หากเอ่ยถึง ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ประเทศไทยเราไม่แพ้ชาติใดในโลก โดดเด่นทั้งเรื่องอาหาร วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว
โดยปัจจุบันไทยเราเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ นักท่องเที่ยวแห่ตบเท้าเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลดีต่อการจับจ่ายใช้สอย การกระจายเม็ดเงินที่เข้าถึงชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตลอดจนส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจบริการด้านต่าง ๆ กลับมาคึกคักและมีเม็ดเงินสะพัดตามไปด้วย
สำหรับธุรกิจบริการที่เด่น ๆ และได้รับอานิสงส์ จากการที่ไทยเราเปิดประเทศ เปรียบเสมือน Destination สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทย คือ ‘ธุรกิจสปา’ และ ‘ร้านนวดแผนไทย’
โดยปัจจุบัน มูลค่าตลาดธุรกิจสปา, ร้านนวดแผนไทย รวมไปถึง กลุ่มธุรกิจเพื่อสุขภาพ (Wellness) ในประเทศไทย หลังพลิกฟื้นจากโควิด-19 มีมูลค่าตลาด อยู่ประมาณราว ๆ 35,000 ล้านบาท เฉลี่ยมีการเติบโตอยู่ที่ปีละ 5-7%
อันเนื่องมาจาก การขยายตัวของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั่วโลก ซึ่งมี ‘ธุรกิจสปา-นวดไทย’ ที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลก อยากจะมาสัมผัสประสบการณ์ตรงด้วยนั่นเอง
ทั้งนี้ จากสถิตินักท่องเที่ยวที่มีความสนใจเป็นพิเศษ ในเรื่องของสปาและการนวดเพื่อสุขภาพ จึงตัดสินใจเดินทางเข้ามาที่ประเทศไทย โดยส่วนใหญ่ เป็นเพศหญิงสูงกว่า 70% และเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีหน้าที่การงานที่ดี มั่นคง เป็นหลัก และในส่วนของเพศชาย อีกประมาณ 40% โดยจุดประสงค์ในการเข้ารับบริการสปาและการนวดของนักท่องเที่ยว สรุปได้ดังนี้
ทำไม ? นักท่องเที่ยวชอบนวด
• หลีกหนีจากความเครียด
• เป็นกิจกรรมการใช้เวลาที่คุ้มค่าในการอยู่คนเดียวหรืออยู่กับตัวเอง
• เพื่อการพักผ่อน และ ผ่อนคลายอย่างแท้จริง
• ได้รับความรู้สึกที่ดี จากการทำสปาและการนวดเพื่อสุขภาพ
• ความปรารถนาที่พร้อมจะใช้จ่ายไปกับสิ่งที่ชอบ
• ได้รับความรู้สึก ถึงการได้รับความเอาใจใส่
• ความต้องการในการปล่อยตัวปล่อยใจ โดยไม่ต้องคิดถึง หรือนึงถึงต่อสิ่งไหน ๆ หรืออะไรในขณะเข้ารับบริการ
ทั้งนี้ เชื่อว่า มีหลายคนที่ยังสงสัยว่า ร้านนวดสปาที่เปิดให้บริการตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เราสังเกตเห็น หรือเคยเข้าไปใช้บริการ มักจะมีรูปแบบการให้บริการที่มีทั้งเหมือนกัน คล้ายกัน และแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยธุรกิจนวดสปานั้น ในความเป็นจริงแล้ว ก็ได้ถูกจำแนกประเภทของธุรกิจและการให้บริการเอาไว้เช่นกัน ซึ่งหลัก ๆ ที่เราเห็นเปิดกัน ยกตัวอย่าง 7 ประเภทร้านนวดสปา ได้ดังนี้
Day Spa/City Spa
สปาประเภทนี้ เปิดเป็นสถานให้บริการอยู่ในย่านธุรกิจสำคัญ หรือในเมืองใหญ่ ๆ เน้นการให้บริการนวดเสริมความงาม และการผ่อนคลายความตึงเครียดด้วยน้ำมันหอมระเหย พนักงานส่วนใหญ่ เรียนนวดสปามาโดยเฉพาะ ซึ่งมีขั้นตอนการบริการไม่ยุ่งยากสะดวกและรวดเร็ว สามารถใช้บริการในระหว่างวันได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าพัก
Destination Spa
เป็นรูปแบบเปิดให้บริการด้านการดูแลและส่งเสริมสุขภาพด้วยบริการสปาโดยเฉพาะ มีบริการห้องพัก และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้บริการอย่างครบวงจร โดยเข้าพักจะเข้าร่วมกิจกรรมภายใต้โปรแกรมที่สถานบริการสปาจัดเตรียมไว้ เช่น โปรแกรมคลายความเครียด โปรแกรมทำสมาธิและดูสุขภาพจิต เป็นต้น
Resort/Hotel Spa
Resort หรือ Hotel Spa เป็นธุรกิจสปาที่ให้บริการในรีสอร์ทหรือโรงแรม วัตถุประสงค์หลัก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการผ่อนคลายความตึงเครียด เหมาะสำหรับรีสอร์ทหรือโรงแรมที่อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว เช่น สถานที่พักตากอากาศ ริมทะเล บ่อน้ำร้อน หรือแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ เป็นต้น
Club Spa
ธุรกิจสปาประเภทนี้ ส่วนใหญ่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการเฉพาะสมาชิกขององค์กร , หน่วยงาน หรือที่พักอาศัย ฯลฯ โดยจะมีการผสมผสานกับการออกกำลังกายเพื่อให้บริการกับสมาชิกที่ต้องการการผ่อนคลายหลังจากออกกำลังกายแล้ว หรือดูแลสุขภาพร่างกาย พร้อมกับบริการด้านอื่น ๆ
Mineral Spring Spa
เป็นบริการสปาที่ค่อนข้าง Unique กล่าวคือ เป็นบริการสปาตามแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นบ่อน้ำร้อน หรือน้ำพุร้อนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งนักท่องเที่ยวคนไทยและช่าวต่างชาติ เนื่องจากมีความเป็น Unseen ให้อารมณ์ความรู้สึกที่ต้องเดินทางไปใช้บริการในพื้นที่ตามแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติเท่านั้น
Medical Spa
ธุรกิจสปารูปแบบนี้ ผู้ประกอบการหรือผู้ให้บริการ จะต้องเรียนนวดสปา หรือผ่านหลักสูตรธุรกิจสปามาก่อน เพราะเป็นการบำบัดรักษาควบคู่กับศาสตร์ทางการแพทย์ และมีการใช้เครื่องมือแพทย์บางอย่าง ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เป็นธุรกิจที่นิยมเปิดอยู่ในสถานรักษาพยาบาล เช่น โรงพยาบาล หรือ คลินิก นั่นเอง
Cruise / Ship Spa
เป็นธุรกิจสปาที่น่าจะหรูหราที่สุด โดยเป็นการให้บริการอยู่บนเรือสำราญ เช่น การนวดแบบต่าง ๆ การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพ การบริการอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีความสุขสบาย และรู้สึกผ่อนคลายในระหว่างการเดินทาง
สำหรับรายได้ ของคนเป็นผู้ประกอบการ หรือเจ้าของร้านนวดสปา แน่นอนว่า หลัก ๆ มาจากการให้บริการนวด หรือทำสปา และการขายสินค้าเพื่อสุขภาพภายในร้าน ทั้งนี้บางร้านอาจจะมีโปรโมชั่น หรือการขายของที่ระลึกประจำร้าน ตลอดจนทำ Member สมาชิก ส่วนลดต่าง ๆ เพื่อดึงดูดและกระตุ้นยอดเข้าใช้บริการอีกด้วย
บริการนวดสปา ที่นักท่องเที่ยวนิยมใช้บริการ
1. พอกผิว (Body Mask) : การพอกผิว เป็นการทำสปาโดยการทาครีมพอกตัวลงไปบนผิวหนังของเราทั่วทั้งเรือนร่าง ซึ่งการพอกผิวนี้มีคุณสมบัติแตกต่างกันไปตามแต่ละโปรแกรม อย่างไรก็ตาม โปรแกรมต่าง ๆ ส่วนใหญ่ยังคงเน้นไปที่การบำรุงสุขภาพผิวให้ดีขึ้น
2. ขัดผิว หรือ การสครับผิว (Body Scrub) : การขัดผิว หรือ สครับผิว เป็นการผลัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพออกไปอย่างหมดจด ช่วยให้ผิวพรรณดูเปล่งปลั่ง กระจ่างใสขึ้น รวมถึงขจัดสิ่งสกปรกตกค้างบนผิวหนังให้หลุดออกไปได้อีกด้วย
3. อบสมุนไพร (Thai Herbal Steam) : การอบสมุนไพร เป็นการอบตัวด้วยสมุนไพรในรูปแบบของน้ำมันหอมระเหย หรือสารระเหยต่าง ๆ ที่มีส่วนช่วยที่ดีในเรื่องของการบำรุงผิวพรรณ พร้อมทั้งได้รับความผ่อนคลายเพิ่มเติมจากการอบไอน้ำอีกด้วย
4. บำบัดร่างกายด้วยการแช่น้ำ (Bath Therapy) : การบำบัดร่างกายด้วยการแช่น้ำ มีคำทั่วไปที่ใช้อยู่คือ การอาบน้ำแร่แช่น้ำนม เป็นศาสตร์ที่บำรุงผิวได้ทุกอณูทั่วเรือนร่าง และซึมเข้าสู่ผิวได้ดีด้วยการลงไปแช่ในน้ำที่มีสารบำรุง เช่น น้ำนม เกลือหิมาลายัน และน้ำมันหอมระเหย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจ ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวมันเอง โดยแอดฯ จะขอฉายภาพข้อดี-ข้อเสีย ของการเปิดร้านนวดสปา ให้เพื่อน ๆ เห็นภาพชัดขึ้น
จุดแข็ง VS จุดอ่อน “ธุรกิจนวดสปา”
จุดแข็ง
1. สปาไทย เป็นธุรกิจที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ร้านนวดสปาแต่ละแห่งจะมี “อัตลักษณ์ท้องถิ่น” หรือมีความแตกต่างที่น่าสนใจ โดยนำทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาผสมผสานเพื่อสร้างความแปลกใหม่ในการให้บริการ
2. ประเทศไทยมีความหลากหลายทางด้านสมุนไพรไทย ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจสปา และให้บริการด้านความงามได้
3. จุดเด่นของธุรกิจสปาและการนวดแผนไทย อยู่ที่ “องค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย” ที่สืบทอดกันมาจากภูมิปัญญาของคนไทยในสมัยโบราณ ทำให้ยากที่จะมีใครเลียนแบบได้
จุดอ่อน
1. เป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง หากต้องการออกแบบร้านให้บริการอย่างครอบคลุมหรือครบวงจร
2. บุคลากรที่ให้บริการต้องผ่านการอบรมธุรกิจสปา หรือได้รับการสอนนวดสปา เพื่อให้มีทักษะเฉพาะ แต่การฝึกอบรมต้องใช้เวลานานเพื่อให้เกิดความชำนาญ จึงเป็นปัญหาทำให้ขาดบุคลากรที่มีทักษะ เนื่องจากการเรียนรู้ต้องใช้เวลา ทำให้ขาดรายได้ และผู้ที่เรียนรู้ส่วนใหญ่เป็นบุคคลวัยทำงานที่ต้องมีภาระเรื่องค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว
3. มีปัญหาอุปสรรคต่อการให้บริการแก่ชาวต่างชาติ เนื่องจากขาดทักษะความเชี่ยวชาญทางด้านภาษาต่างประเทศของผู้ให้บริการ
ฉายภาพในมุมของผู้ประกอบการกันไปแล้ว ทีนี้.. มาดูในส่วนของอาชีพหรือการทำงานเป็นพนักงานในร้านนวดสปากันบ้าง โดยถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ภาครัฐสนับสนุนในการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยตลาดยังต้องการ สามารถพัฒนาฝีมือ มีใบรับรองในสายงาน เป็นใบเบิกทางในการเป็นลูกจ้าง หรือทำงานร้านสปาได้ทั่วประเทศ และร้านนวดไทยในต่างประเทศได้อีกด้วย
อัตรารายได้ พนักงานร้านนวดสปา (เป็นราคาประมาณการ ปรับเปลี่ยนได้ตามกลไกของตลาดแรงงาน)
• เฉลี่ย ลูกจ้างรายวัน (รับผิดชอบงานทั่วไปในร้านนวดสปา เช่น ต้อนรักลูกค้า , เปลี่ยนอุปกรณ์ ฯลฯ) จะได้อัตราเงินเดือนค่าจ้าง แบบเป็นรายวันหรือรายเดือน เช่น วันละ 300-500 บ./8 ชม. เป็นต้น
• สำหรับหมอนวด หรือผู้ที่ผ่านการอบรมและมีใบรับรองประกอบวิชาชีพนวดสปา (รับรองโดยหน่วยงานในสังกัด กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ) จะมีรายได้เฉลี่ย 100-200 บ./ชม. หรือต่อการให้บริการรับลูกค้า 1 ท่าน เป็นต้น (ขึ้นอยู่กับทำเลเปิดร้าน , กลุ่มลูกค้า และการตกลงกันกับนายจ้างหรือเจ้าของร้าน)
อยากเปิดร้านนวดสปา ต้องเริ่มต้นทำอย่างไรบ้าง ?
1. ดีไซน์รูปแบบการบริการ โดยเราต้องรู้ก่อนว่าลูกค้าของเราคือใคร ? กำหนดกลุมลูกค้าเป้าหมายให้ชัดเจน ลูกค้าเขาอยู่ที่ไหน เขามีรายได้เท่าไหร่ มีไลฟ์สไตล์อย่างไร ชอบอะไร มักจะมาใช้บริการเวลาไหน บ่อยแค่ไหน
เพราะลูกค้าเป้าหมาย จะนำมาซึ่ง การกำหนดราคา และรูปแบบการบริการ แล้วเราจะขายอะไรให้เขา จุดเด่นของธุรกิจเราที่จะตอบความสนองความต้องการของลูกค้าคืออะไร ? โดยคุณต้อง List คำถามและตอบคำถามที่คุ List เอาไว้ตามนี้ให้ได้ก่อน
แล้วค่อยมาวางแผนว่า จะเริ่มต้นเปิดร้านสปาประเภทไหน ซึ่งสปาแต่ละประเภทต้องมีใบอนุญาตต่าง ๆ กัน รวมถึงพนักงานผู้ให้บริการต้องมีการขึ้นทะเบียนด้วย
2. กำหนดรูปแบบการให้บริการร้านของคุณก่อน เช่น จะนวดเพื่อสุขภาพ จะนวดเพื่อผ่อนคลาย หรือจะนวดเพื่อเสริมความงาม เพื่อทำให้การบริหารร้านของคุณง่ายขึ้น และมีคอนเซ็ปต์การให้บริการที่ชัดเจน
3. เลือกซื้ออุปกรณ์สปา จากแหล่งจำหน่ยที่ได้มาตรฐาน น่าเชื่อถือ เช่น จะมีเครื่องมืออะไรบ้าง โดยคุณสามารถเขียนรายการออกมาให้หมด เพื่อให้เห็นภาพว่า จะลงทุนซื้ออุปกรณ์พื้นฐานสปา เครื่องใช้ไม้สอยอะไรบ้าง เพื่อจะได้นำมาให้บริการตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าของคุณอย่างโดนใจและดีที่สุด
4. กำหนดแนวทางแผนธุรกิจ รวมทั้ง ‘งบการเงิน’ โดยคุณจะต้องกำหนดทำเลที่จะเปิดร้านสปา ทำเลที่ตั้งของธุรกิจ ต้องหาที่เช่าร้าน หรือโลเคชั่น ที่ท่านต้องการเปิดสปา สำรวจราคาค่าเช่าที่ ความสะดวกในการเดินทาง สิ่งแวดส้อมว่าเอื่ออำนวยกับธุรกิจหรือไม่ ฯลฯ
5. ออกแบบ Theme และ Concept ของร้านคุณ ว่าต้องการสื่อสารอะไรกับลูกค้า รูปแบบของสปาเป็นแบบไหน รวมถึงสีสันของร้านว่าจะใช้สีอะไร เพื่อให้เกิดภาพจำ ข้อนี้ ถือเป็นการสร้างแบรนด์ เป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้าบอกต่อกันไปปากต่อปาก ซึ่งสำคัญมาก
6. การสรรหาทีมงาน คือ การกำหนดโครงสร้างขององค์กรว่า คุณจะมีทีมงานจำนวนกี่คนคอยบริหารจัดการร้าน และให้บริการลูกค้าอย่างทั่วถึงและให้ประทับใจที่สุด เช่น เจ้าของร้านลงมาดูแลเอง หรือหาผู้จัดการร้าน , พนักงานต้อนรับ , สปาเธอราพีส (ผู้เชี่ยวชาญ, หมอนวด, คนที่ทำสปาหรือนวดให้ลูกค้า), แม่บ้าน เป็นต้น
7. การจดแจ้งขอใขอนุญาตในการดำเนินเปิดร้านสปา หรือใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ซึ่งโดยทั่งไป ให้ติดต่อกับ สํานักงานส่งเสริมธุรกิจบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
ธุรกิจนวดสปาของไทย มองดูแล้วยังมีอนาคตสดใส เพราะรายได้หลักของเมืองไทยก็มาจากธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เมื่อการท่องเที่ยวได้รับการฟื้นฟูและสนับสนุน ทำให้ธุรกิจร้านนวดสปาซึ่งอยู่ใน Cycle หรือเชนธุรกิจนี้ ก็มีโอกาสเติบโตตามไปด้วยเช่นกัน
ตลอดจนในอาเซียน ธุรกิจนวดสปาของไทย มีศักยภาพเป็นอันดับต้น ๆ ไม่แพ้ชาติอื่น ๆ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ และพนักงาน หมอนวด สปาเธอราพีส หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจนี้ สามารถขยายกิจการ และต่อยอดการทำงานในต่างประเทศ ยกระดับรายได้และมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้น
สำหรับเพื่อน ๆ หรือใครก็ตามที่สนใจ อยากจะเปิดร้านนวดสปา ลองศึกษาข้อมูลธุรกิจนี้อย่างรอบด้าน หรืออ่านบทความนี้ดู เพื่อเตรียมความพร้อม วางแผนการบริหารจัดการเอาไว้ให้ดี จะได้ลดความเสี่ยง ธุรกิจดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างราบรื่นไม่มีสะดุด