ถอดรหัสความสำเร็จ “ฮาตาริ” กว่า 30 ปีครองใจคนไทย คือ “พัดลมที่มีทุกบ้าน”


เมื่อพูดถึงพัดลม “ฮาตาริ” แอดฯ เชื่อว่า เพื่อน ๆ ต้องมีที่บ้านอย่างน้อย 1 ตัว โดยชื่อ ฮาตาริ ก็จริงอยู่ แต่เป็นบริษัทสัญชาติไทยแท้ ๆ ภายใต้ชื่อ “บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด” ที่ผลิตพัดลมไฟฟ้าและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมาอย่างยาวนาน บริหารโดย “จุน วนวิทย์” หรือ “อากงจุน” ที่หลาย ๆ คนในแวดวงธุรกิจเรียกกัน

 

 

โดยภาพรวมตลาด ในแวดวงอุตสาหกรรมและธุรกิจการพัดลมในประเทศไทย มูลค่าตลาดของสินค้า ‘พัดลมไอเย็น’ นั้นอยู่ที่ระดับ 2,000-3,000 ล้านบาท ขณะที่ “ฮาตาริ” เป็นเจ้าตลาดพัดลมของเมืองไทยยาวนานกว่า 30 ปี แล้ว โดยบริษัทฯ ยังคงสร้างผลการดำเนินงานที่ดีตลอดมา

สำหรับเหตุผลที่ Smart SME หยิบยกแบรนด์พัดลม “ฮาตาริ” ขึ้นมาพูดคุย ก็เพราะเป็นแบรนด์ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะสินค้าประเภท “พัดลมไฟฟ้า” ที่ ฮาตาริ นั้นถือส่วนแบ่งการตลาดอันดับต้น ๆ ในประเทศไทย และยังเป็นแบรนด์ของคนไทย จึงอยากให้คนไทยได้ภาคภูมิใจ

 

และที่เรียกเสียงฮือฮาอีกครั้ง เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2565) เมื่อเพจเฟซบุ๊ก Ramathibodi School of Nursing, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital ของโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความเมื่อ 26 ก.ค.65 ระบุว่า บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด โดย “คุณจุน-คุณสุนทรี วนวิทย์” และครอบครัว บริจาคเงิน 900 ล้านบาท แก่มูลนิธิรามาธิบดีฯ เมื่อวันที่ 26 ก.ค.65

 

นั่นจึงทำให้หลายคนที่ยังไม่เคยรู้จักทั้ง “ฮาตาริ” และ “อากงจุน” ก็ได้รู้จักมากขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วเมื่อไล่ดูย้อนหลัง จะพบว่า การบริจาคเงินนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะ “อากงจุน และครอบครัว” ได้บริจาคเงินให้มูลนิธิต่าง ๆ ต่อเนื่องมาหลายครั้งและหลายปีแล้ว

รวมถึงชีวประวัติของ “อากงจุน” ก่อนก่อตั้ง “ฮาตาริ” ชีวิตก็ไม่ได้โดยด้วยกลีบกุหลาบ แต่สามารถสร้างธุรกิจจากร้านซ่อมพัดลมเล็ก ๆ จนตอนนี้มีรายได้แต่ละปีเฉียดหมื่นล้านบาท !

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นความรู้และเป็นวิทยาทาน แก่ผู้ประกอบการธุรกิจรุ่นใหม่ ๆ แอดฯ จึงขอพาทุกคนไปทำความรู้กับ “ฮาตาริ” และ “อากงจุน” กันให้มากขึ้นกับแบรนด์ “ฮาตาริ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสายลม”

 

ข้อมูลธุรกิจ บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด

บริหารโดย : นายจุน วนวิทย์, นายวิทยา พานิชตระกูล, นางสุนทรี วนวิทย์
วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง : 8 ส.ค.2533
ทุนจดทะเบียน : 5 ล้านบาท

ผลประกอบการ

ปี 2563
รายได้รวม : 6,240.3 ล้านบาท
กำไร : 93.7 ล้านบาท

ปี 2564
รายได้รวม : 6,336.2 ล้านบาท
กำไร : 85.7 ล้านบาท

ปี 2565
รายได้รวม : 6,008.3 ล้านบาท
กำไร : 61.4 ล้านบาท

สำหรับชื่อเสียงของ “คุณจุน วนวิทย์” เคยได้รับการจัดอันดับจาก Forbes Thailand เมื่อปี 2018 (พ.ศ.2562) ว่า เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 49 โดยมีทรัพย์สินรวมประมาณราว 14,800 ล้านบาท

 

สำหรับผลิตภัณฑ์ ปัจจุบัน ‘ฮาตาริ’ มีสินค้าพัดลมครบทุกประเภท ได้แก่

– พัดลมเคลื่อนที่
– พัดลมติดตั้ง
– พัดลมอุตสาหกรรม
– พัดลมระบายอากาศ
– พัดลมไอเย็น
– และครอบคลุมไปถึงเครื่องปรับอากาศ ซึ่งรวมถึงชิ้นส่วนอะไหล่ต่าง ๆ เรียกได้ว่าครบวงจร ตอกย้ำถึงวิสัยทัศน์ของบริษัทในเครือว่า “ฮาตาริ คือผู้เชี่ยวชาญทางด้านสายลม”

 

โดยทั้งหมดนี้ ดำเนินการโดยบริษัทในเครือวนวิทย์กรุ๊ป ได้แก่..

• บริษัท วนวิทย์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด
• บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด
• บริษัท วนวิทย์ เมทัล เวิร์ค จำกัด

แม้ในประเทศไทยจะมีผู้ผลิตและจำหน่ายพัดลมไฟฟ้าหลายแบรนด์ ทั้งในและต่างประเทศ ทว่า “ฮาตาริ” ก็ยังถือครองส่วนแบ่งการตลาดราว 80% จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศจนถึงปัจจุบันนี้

สำหรับพัดลม ยี่ห้อ และรุ่นยอดนิยม ขายดีในปี 2023 (อันดับตัวเลข ไม่ได้มีผลเเกี่ยวกับยอดขาย) ได้แก่..

1. พัดลม SHARP รุ่น PJ-SL163
2. พัดลม Mitsubishi รุ่น LV16-GA 16 นิ้ว
3. พัดลม TEFAL รุ่น VF4410T0
4. พัดลม MITSUBISHI ELECTRIC รุ่น R18A-GB
5. พัดลม Sharp รุ่น PJ-RT181 พัดลมพร้อมรีโมทคอนโทรล 18 นิ้ว
6. พัดลม Masterkoo รุ่น MDSF-16 พัดลมตั้งพื้น 16 นิ้ว
7. พัดลม Clarte พัดลมตั้งพื้น 18 นิ้ว รุ่น CT830ST
8. พัดลม Victor พัดลมอุตสาหกรรม 18 นิ้ว รุ่น IF-1861
9. พัดลม HATARI SLIDE SMART L1
10. พัดลม Imarflex พัดลมปรับระดับขนาด 16 นิ้ว รุ่น IF-777

 

จุดเด่น และ กลยุทธ์ทำตลาดของ “ฮาตาริ”

จุดเด่นของ “ฮาตาริ” อยู่ที่เรื่องของ ‘ราคา’ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า “ฮาตาริ” เป็นพัดลมที่ราคาไม่สูงนักเริ่มต้นหลัก “ร้อยบาท” ทำให้ผู้บริโภคในวงกว้าง(Mass Market) สามารถเข้าถึงได้

สำหรับสินค้าพัดลม เป็นหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผู้ประกอบการป่าวประกาศสร้างแบรนด์ ทำการตลาดค่อนข้างน้อย มีเพียงบางแบรนด์เท่านั้นที่ออกอาวุธเชิงรุก ขณะที่ “ฮาตาริ” แม้จะไม่แถลงแผน แต่เน้นไปที่การประชุมกับตัวแทนจำหน่ายหรือดีลเลอร์ เพื่อปั๊มยอดขายเป็นหลัก

กลยุทธ์การสื่อสารตลาดของ “ฮาตาริ” จะมีการสร้างสรรค์ผลงานโฆษณาออกสู่สายตาผู้บริโภคอยู่เสมอ การเล่าเรื่อง(Storytelling) เน้นนำเสนอความสนุกสนาน โดนจริตผู้บริโภคชาวไทย

ทว่า สิ่งที่เหนือกว่าเรื่องราวของแบรนด์คือ “ตัวพัดลม” ที่ชูดจุดแข็งฟังก์ชั่นครบครันทั้ง ทนทาน และเย็นทั่ว ถึงใจ เป็นต้น

ในวันที่โลกเคลื่อนตัวสู่ดิจิทัล และการตลาดต่างมุงสู่ออนไลน์ แต่การทำตลาดของ “ฮาตาริ” ผ่านเพจเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการ ไม่ได้เน้นสื่อสาร สร้างแบรนด์หนักหน่วง กลับนำเสนอกิจกรรมเพื่อสังคม การการสื่อสารเชิงบวกมากกว่าโปรโมทแบรนด์ด้วย

โดยอย่างที่บอกไป ซึ่งกว่า 30 ปีที่พัดลม “ฮาตาริ” แบรนด์ไทยอยู่เคียงข้างคนไทยมาตลอด และอีกมุมหนึ่งง ในเรื่องการบริจาคทุนทรัพย์ การช่วยเหลือสังคงของ “คุณจุน วนวิทย์” ที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน กลายเป็นพลังบวกให้กับแบรนด์อย่างมาก หนุนให้แบรนด์ได้รับความนิยมยิ่งขึ้นไปอีก

เพราะเชื่อว่าจากนี้ไป ผู้บริโภคชาวไทยที่จะเลือกซื้อพัดลม คงฉุกคิดถึงแบรนด์ “ฮาตาริ” อย่างแน่นอน ส่วนหนึ่งมาจาก “คุณจุน วนวิทย์” ที่กลายเป็นอากง หรือคุณปู่ คุณตา ที่มีจิตใตเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีธรรมมาภิบาล ช่วยเหลือสังคม ตรงนี้ด้วย ที่ทำให้แบรนด์และตัวของผู้บริหารได้รับการยกย่อง เชื่อมั่น และดำรงอยู่ได้ต่อไปอย่างยาวนานและยั่งยืน