อีกหนึ่งโปรเจกต์ยักษ์ของ “คาราบาวกรุ๊ป” ในปีนี้ คงหนีไม่พ้นการเข้ามาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดเครื่องดื่มเบียร์ที่มีการประกาศตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา
โดยแผนงานการดำเนินงานนั้น “คาราบาวกรุ๊ป” จะทุ่มเงินสร้างโรงงานผลิตเบียร์ที่จังหวัดชัยนาท โดยตั้งเป้าวางจำหน่ายทั่วประเทศในไตรมาส 4/2566 ทั้งในรูปแบบขวด กระป๋อง ซึ่งปัจจุบันก็ถึงกำหนดเวลาแล้ว
หากพูดตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ถือว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก โดยในปี 2565 มีมูลค่า 490,680 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อน 8.9% ซึ่งมาจากการยกเลิกมาตรการโควิด-19 ทำให้ร้านอาหาร ธุรกิจสถานบันเทิง กลับมาเปิดเต็มรูปแบบอีกครั้ง และในปี 2566 คาดการณ์ว่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีมูลค่า 532,000 ล้านบาท ขยายตัว 8.4% จากปี 2565 รวมถึงยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 4 ปีข้างหน้า คิดเป็นอัตราเฉลี่ย 5.9% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม แม้เป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ แต่ที่ผ่านมาในตลาดเบียร์ เรามักจะพบผู้เล่นหน้าสำคัญอยู่ไม่กี่เจ้า ที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ “สิงห์” ของกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ กับ “ช้าง” ของกลุ่มไทยเบฟ ซึ่งคำตอบเรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย ที่เราเห็นผู้ผลิตไม่มากนัก เพราะธุรกิจนี้ต้องใช้เงินลงทุน มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนกฏระเบียบของทางการไทยในการขอรับใบอนุญาตการผลิตที่มีการระบุเงื่อนไขของการผลิตขั้นต่ำที่อยู่ในระดับสูงมาก จึงทำให้กลายเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการ
แต่เรื่องที่พูดมาไม่ใช่ปัญหาของ “คาราบาวกรุ๊ป” แน่นอน เพราะธุรกิจของพวกเขามีศักยภาพที่จะทำตรงนี้ได้ และเป็นโอกาสที่จะต่อยอดขายสินค้าใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น จากที่เคยทำเครื่องดื่มชูกำลังมาก่อน
“คาราบาวกรุ๊ป” หวังสูงแค่ไหน
คุณเสถียร เสถียรธรรมะ แม่ทัพใหญ่บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับ asia.nikkei ว่าคาราบาวจะเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศไทย โดยบริษัทตั้งเป้าครองตลาดในประเทศให้ได้ 10% ในปี 2024 และเพิ่มเป็น 20% ในอีก 3-5 ปี ข้างหน้า
ในส่วนของการผลิต คาราบาวลงทุนสูงถึง 6,000 ล้านบาท เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ผลิตเบียร์ในจังหวัดชัยนาท มีกำลังการผลิต 200 ล้านลิตรต่อปี และจะเพิ่มเป็น 400 ล้านลิตร ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด พร้อมตั้งเป้ายอดขายเบียร์ 40,000 ล้านบาท ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
“คาราบาวเล็งรุกตลาดเบียร์อย่างเต็มรูปแบบมานานกว่า 20 ปี เบียร์ถือเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของตลาดเครื่องดื่มไทย ดังนั้น ไม่มีทางเลี่ยงได้ถ้าหากคุณอยากเติบโต” คุณเสถียร กล่าว
ตามรายงานของ Euromonitor บริษัทวิจัย เผยว่า ณ ปี 2020 กลุ่มบุญรอดมีส่วนแบ่งตลาดเบียร์ในไทยอยู่ที่ 57% ตามมาด้วยไทยเบฟ คิดเป็น 34% เมื่อพูดถึงรายได้ พบว่า ไทยเบฟมียอดขาย 272.3 พันล้านบาท (ณ สิ้นสุดเดือนกันยายน 2022) ส่วนคาราบาวกรุ๊ปมีรายได้ 19.4 พันล้านบาทในปี 2022 ส่วนบุญรอดไม่มีการเปิดเผยรายได้แต่อย่างใด
โดยในเดือนพฤศจิกายนนี้ “คาราบาวกรุ๊ป” จะเปิดเบียร์ราคาถูกชื่อว่า “คาราบาว” (คาดว่าจะขายขวดละ 60 บาท) ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับเครื่องดื่มชูกำลัง และอีกชื่อคือ “ตะวันแดง” จะมีราคาสูงขึ้นมา ซึ่งเริ่มมีการวางจำหน่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
การแข่งขันในธุรกิจเบียร์มีปัจจัยสำคัญที่ทำให้ติดตลาด เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคคอนักดื่ม คงหนีไม่พ้นเรื่องดังต่อไปนี้
ช่องทางการซื้อ: หากสินค้าวางจำหน่ายในพื้นที่ที่คนเข้าถึงง่าย เช่น ร้านสะดวกซื้อ, ร้านขายของชำตามชุมชน ก็จะเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งตรง “กลุ่มคาราบาวกรุ๊ป” พวกเขามีร้านสะดวกซื้ออย่าง CJ Express, ถูกดีมีมาตรฐาน อยู่แล้วจึงเป็นข้อได้เปรียบที่จะนำสินค้าไปวางจำหน่าย หรืออาจจะเป็นการดีลกับร้านสะดวกซื้อชื่อดังอย่าง 7-Eleven ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน
ราคา: เป็นราคาที่จับต้องได้ สามารถเข้าถึงทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น หรืออาจจะเป็นการจัดโปรเพื่อส่งเสริมการขายตามร้านอาหาร และสถานบันเทิง เพื่อสร้างการรับรู้ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย
รสชาติ: การดื่มเบียร์ ผู้ดื่มย่อมคาดหวังกับรสชาติว่าจะถูกคอหรือไม่ ตรงนี้ต้องมาดูว่าเมื่อเบียร์ของคาราบาวออกมาแล้วจะได้รับกระแสตอบรับอย่างไร เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นตัวชี้ขาดเลยก็ว่าได้
สุดท้ายคนได้ประโยชน์คือผู้บริโภคที่มีทางเลือกมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับประโยคการให้สัมภาษณ์ของคุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหารของไทยเบฟเวอเรจ ที่ออกมายินดีกับการแข่งขันครั้งใหม่นี้ว่าเป็น “สิ่งมหัศจรรย์” สำหรับผู้บริโภค
ที่มา: asia.nikkei, สถาบันอาหาร
เรื่องที่เกี่ยวข้อง