ดีเอ็นเอของคนที่เกิดมาเพื่อทำธุรกิจ บางทีพวกเขาจะมีมุมมองไม่เหมือนคนอื่น และจะเห็นโอกาสที่อยู่รอบตัวว่าสามารถต่อยอด สร้างมูลค่าได้ และมีความกล้าเสี่ยง
กรณีศึกษาที่ Smartsme ยกมาเป็นเรื่องราวของ Neil Hershman ซีอีโอวัย 28 ปี ของ 16 Handles เชนร้านขนมหวาน ที่มีคุณสมบัติการเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่น่านำไปเป็นแบบอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การเป็นผู้นำ, การไม่ถือตนกับลูกน้อง ตลอดจนทักษะการบริหารคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้กับสิ่งที่จะทำ อย่างแบรนด์ 16 Handles ร้านของหวานที่มีสภาพเก่าโทรม แต่ถูกปรับภาพลักษณ์ใหม่จนกลายเป็นแบรนด์ซอฟต์เสิร์ฟ และของหวานอันดับ 1 ของนิวยอร์ก
Hershman จบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย George Washington ในปี 2017 ทางด้านการเงิน และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ หลังจากเรียนจบเขาเข้าสู่วงการการเงินในฐานะนักวิเคราะห์ แม้จะชอบงานด้านนี้ โดยเฉพาะด้านการควบรวมกิจการ และการประเมินสภาพคล่อง แต่ก็มีความรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ไลฟ์สไตล์ที่ต้องการ
“ผมเห็นคนที่อายุเท่าพ่อทำงานเป็นเวลานานหลายชั่วโมง พวกเขาได้รับผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยม แต่ก็ดูเหมือนไม่มีความสุขมากนัก” Hershman กล่าว
Hershman เริ่มมองหาความท้าทายใหม่ ๆ หลังอยู่ในแวดวงมาเป็นระยะเวลา 1 ปีครึ่ง โดยจุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อ Hershman เดินทางไปยังร้าน 16 Handles ที่ขายโยเกิร์ตแช่แข็งข้างอพาร์ทเม้น พร้อมกับสังเกตเห็นว่าร้านมีปัญหาเล็กน้อย เช่น หลังคารั่ว และเกิดไอเดียขึ้นมาว่า หากซื้อแฟรนไชส์นี้จะเกิดอะไรขึ้น?
Hershman มีความชื่นชอบแบรนด์ และร้านสไตล์แบบนี้ โดยในปี 2019 เจ้าตัวได้กู้เงินจาก SBA เพื่อขอซื้อร้าน 16 Handles หลังจากนั้นก็ได้ทำงานในร้านเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เปิดร้านไปจนถึงปิดร้าน ต่อมา 1 ปี เขาเริ่มซื้อร้านค้าอีก 2 แห่งในแมนฮัตตัน ซึ่งทำให้มี 3 สาขา ภายใต้การบริหารของเขา ไม่เพียงเท่านั้น ยังมองหาเป้าที่ใหญ่ขึ้นไปอีก คือซื้อทั้งบริษัท (ณ ตอนนั้นมี 22 สาขา)
อุปสรรคครั้งสำคัญของ Hershman หลังจากเดินหน้าซื้อสาขาของร้าน 16 Handles เกิดขึ้นเมื่อมีการแพร่ระบาดโควิด-19 และนิวยอร์กกลายเป็นเมืองร้าง หลายธุรกิจไปไม่รอดต้องปิดตัวลง แต่ Hershman มองเห็นโอกาส โดยเขาเชื่อว่าเมืองนิวยอร์กจะไม่มีวันตาย และเขายินดีที่จะเดิมพันครั้งใหญ่ด้วยการเช่าพื้นที่ในไทม์สแควร์ พร้อมเจรจากับเจ้าขอวเพื่อปรับเปลี่ยนเป็นสัญญาเช่าเป็นระยะยาว
Hershman คาดหวังว่าเมืองนิวยอร์กจะกลับมาใช้ชีวิตได้ในบางจุด ซึ่งก็เกิดขึ้นจริงทำให้เขาสามารถพลิกวิกฤตกลายเป็นโอกาสเปิดสาขา มีรายได้เพิ่มขึ้นจากครั้งนี้
หลังจากนั้น Hershman มุ่งมั่นทำตามความตั้งใจเดินหน้าเจรจาขอซื้อร้าน 16 Handles ซึ่งต้องเผชิญกับขวากหนามมากมายจนประสบความสำเร็จปิดดีลไปในที่สุด ปฏิเสธไม่ได้ว่า Hershman มีดีเอ็นเอความเป็นเจ้าของธุรกิจ เขาลงมือตกแต่งร้าน ทุ่มเทพลังงานกับการฝึกอบรมพนักงาน
Erik Mallon รองประธานฝ่ายพัฒนาแฟรนไชส์ 16 Handles กล่าวว่า Hershman ทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม โดยนำพลังงานจำนวนมหาศาลกลับคืนสู่ 16 Handles ในฐานะแบรนด์
จะเห็นได้ว่าการทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะต้องมีเรื่องให้แก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา อย่างกรณีของ 16 Handles ที่เผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 นำมาสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุ่มเสี่ยงว่าธุรกิจจะไปต่อ หรือพอแค่นี้ ซึ่ง Hershman กล้าเสี่ยง และผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ดังนั้น หากใครอยากทำธุรกิจต้องคิดให้รอบคอบ หากจะลงมือทำอะไรสักอย่างลงไป
ที่มา: 16handles, entrepreneur, forbes