นับตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2566 จนถึงวันนี้ เป็นเวลาเดือนเศษ ๆ ที่ภาพยนตร์ “สัปเหร่อ” เข้าฉายและโกยรายได้ทะลุไปกว่า 600 ล้านบาท โดยกระแสคนชอบดูหนังผีเรื่องนี้ก็ยังฟีเวอร์ไม่หยุด โดยที่หนังก็ยังคงมีโปรแกรมเข้าฉายอยู่ และทำรายได้ยาว ๆ ไปอีกนานนับเดือนแน่นอน
หรือแม้แต่ภาพยนตร์ “อยากตาย อย่าตาย มรณาคาเฟ่” (Death Is All Around) ที่เข้าฉายช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งกระแสตอบรับดีไม่แพ้ สัปเหร่อ เช่นกัน โดยสองเรื่องนี้ ต่างก็มีเรื่องราวที่เหมือนและแตกต่างกัน โดยสิ่งที่เหมือนกัน 100% คือ การเล่าเรื่องราว “โลกหลังความตาย” ที่มีเหตุการณ์ทำให้คนเป็นและคนตายกลับมาพบกันอีกครั้ง
เมื่อฉายภาพมองเข้าไปในหนัง 2 เรื่องนี้ นอกจากความสนุก ความบันเทิง ความหลอน ความรัก ที่ผู้ชมได้รับแล้วนั้น.. ยังมีอีกหลายสิ่งที่ซ่อนอยู่และมีคุณค่าที่หนังเรื่องนี้ ที่ได้นำเสนอถ่ายทอดสะท้อนผ่านเรื่องราวตัวละครและพล็อตเรื่องนี้
ยกตัวอย่างเช่น ความเชื่อ , ขนมธรรมเนียมประเพณี, วิถีชีวิต , จรรยาบรรณในวิชาชีพสัปเหร่อ และอื่น ๆ ซึ่งหากมองดี ๆ สามารถตีความ เป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft Power) ได้เช่นกัน
ทำให้มองไปถึงเรื่องของ Service พิธีกรรม หรือเชนธุรกิจที่เกี่ยวกับ “บริการจัดงานศพ” ที่สืบทอดกันมาช้านาน และก็เป็นอีกหนึ่งสิ่ง ที่หนังได้ถ่ายทอดออกมาได้อย่างเห็นภาพ โดยปัจจุบัน เชื่อว่า คนสมัยนี้ อาจจะไม่ค่อยมีความรู้เรี่องการจัดงานศพ ว่าต้องจัดเตรียมอะไรบ้าง ต้องติดต่อใคร และใช้เงินจัดงานเท่าไหร่ ?
แน่นอนว่า การจัดงานศพ ไม่มีใครอยากให้เกิดกับครอบครัว และคนที่คุณรัก หรือไม่อยากให้วันนั้นมาถึง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันคือ ‘วัฏสงสาร’ แต่หากมองอีกมุม คือ เมื่อเหตุการณ์นั้นมาถึง.. คุณจะตั้งสติ และเตรียมการรับมืออย่างไรบ้าง ?
การมองหาและเลือกใช้บริการ “บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการจัดงานศพแบบครบวงจร” จึงเป็นคำตอบนั้น.. สำหรับครอบครัวยุคใหม่หลาย ๆ ครอบครัวที่ต้องพบเจอกับเหตุการณ์ที่ต้องสูญเสีย และร่วมกันส่ง ‘ผู้วายชนม์’ ไปสู่ภพภูมิที่ดี
Smart SME ขอพาเพื่อน ๆ มาเติมความรู้ เกี่ยวกับข้อมูลเรื่องพิธีกรรม ขั้นตอนการจัดงานศพ รวมไปถึงเชนที่เกี่ยวข้อง “ธุรกิจบริการรับจัดงานศพ” ที่ปัจจุบันนี้ มีบริษัทที่ให้บริการรูปแบบใดบ้าง ? ต้องเตรียมการอย่างไร งานถึงจะออกมาดีและเป็นการให้เกียรติแก่ผู้ล่วงลับได้มากที่สุด
“ชีวิตหลังความตาย” กับ “พิธีส่งวิญญาณไปสู่สุคติ” ของแต่ละศาสนาอยู่ควบคู่กับมนุษย์มาช้านาน ทว่าวันเวลาเปลี่ยนไป ผู้เฒ่าผู้แก่ที่รู้พิธีกรรมได้ล้มหายตายจาก ไม่ค่อยมีทายาทสืบทอด จึงทำให้ธุรกิจบนความตาย (เชิงพาณิชย์) จึงเกิดขึ้นมา เพื่อให้บริการและอำนวยความสะดวกครบวงจร
ตั้งแต่การขนย้ายศพจากบ้าน โรงพยาบาล ไปยังวัด รวมไปถึงพิธีกรรมตลอดช่วงเวลาจัดงาน ค่าดอกไม้สดตกแต่งหน้าโลงศพ รวมไปถึงอาหารจัดเลี้ยงแขก ยาวไปจนทำพิธีนำกระดูกไปลอยอังคาร เหล่านี้ คือ เรื่องจำเป็นที่ญาติผู้ล่วงลับ ต้องตระเตรียมรอไว้
“ธุรกิจความตาย” เป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาล ซึ่งจากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานศพ มีเม็ดเงินหมุนเวียน ไม่ต่ำกว่า 35,000 ล้านบาทต่อปี โดยเงินค่าใช้จ่ายเหล่านี้ เริ่มคำนวณกันตั้งแต่การเคลื่อนย้ายศพ เพื่อนำไปประกอบพิธีทางศาสนา ไปจนกระทั่งเผา หรือฝังตามความต้องการของผู้ตายหรือญาติ
ทำไม ? ต้องมี..ธุรกิจรับจัดงานศพอย่างครบวงจร
เนื่องจากการจัดงานศพ มีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างมาก จึงทำให้เกิดธุรกิจรับจัดงานศพอย่างครบวงจร ครอบคลุมการบริการอย่างครบวงจรตั้งแต่..
– รถรับร่างผู้วายชนม์ จากโรงพยาบาล เพื่อไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่วัด
– การแต่งหน้าและฉีดยาศพ
– จัดหาวัด
– ขอใบมรณะบัตร (บริการแจ้งตายในสำนักทะเบียนท้องถิ่นหรือที่เขตนั้น ๆ )
– จัดเตรียมพิธีรดน้ำศพ
– ติดต่อขอน้ำหลวงอาบศพ
– จัดทำพิธีบรรจุศพ
– จัดทำพิธีสวดพระอภิธรรมหรือพิธีกงเต็กและงานฌาปนกิจหรือพระราชทานเพลิงศพ
– รวมถึงงานอื่น ๆ ทั้งการ์ดงานศพ ดอกไม้ อาหารว่าง บอร์ดภาพถ่าย ของชำร่วย/หนังสือที่ระลึก
– และบริการเสริมในการจัดงานได้ เช่น พิธีลอยอังคาร การนำผู้ร่วมงานไปยังที่ฝังศพ เป็นต้น
ทั้งนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าภาพที่ไม่มีเวลา และไม่ต้องการยุ่งยากในการจัดงานให้ครบถ้วนตามประเพณี
ราคาและกลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้บริการรับจัดงานศพครบวงจร
กลุ่มลูกค้าหลัก ๆ ซึ่งเป็นเป้าหมายของธุรกิจรับจัดงานศพอย่างครบวงจรนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าระดับบน หรือลูกค้าที่มีรายได้สูง โดยมีระดับราคาให้บริการจัดงานครบวงจร ตั้งแต่ 100,000 – 400,000 บาท (บริการทุกขั้นตอนตั้งแต่รถขนย้ายศพ – งานฌาปนกิจ และบริการจัดพิธีลอยอังคาร)
อย่างไรก็ดี สำหรับเจ้าภาพที่ไม่ได้มีรายได้สูงหรืองบการจัดงานศพที่มีอย่างจำกัด สามารถเลือกใช้บริษัทผู้ให้บริการในราคา “แบบประหยัด” ได้เช่นกัน ซึ่งผู้ให้บริการก็จะจัดเตรียมให้ครบวงจร ตั้งแต่เอารถไปรับร่างของผู้วายชนม์ มีคนทำพิธีและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้จนครบเสร็จสรรพจนถึงวันเผา ราคาอยู่ที่ 3,500-15,000 บาท
หรือ “แบบมาตรฐานสวยงาม มีการจัดพิธีและแขกผู้เข้าร่วมอาลัยจำนวนเยอะขึ้นมาหน่อย” ราคาจะอยู่ที่ 9,000-24,000 บาท ซึ่งราคานี้ สำหรับบริษัทผู้ให้บริการบางราย จะยังไม่รวมกับราคาดอกไม้ประดับตกแต่งหน้าโลงศพ เพราะในส่วนของราคาดอกไม้สดมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ 2,000 บาท ไปถึงหลักหมื่นบาท ดอกไม้ตรงนี้ก็จะอยู่ยาวไปจนเสร็จพิธีเลยเช่นกัน เป็นต้น
ทั้งนี้ Rate ราคาบริการจัดงานศพนั้น แตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย อาทิ จำนวนวันที่จะจัดพิธีศพ และรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ ตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งคาดว่า ธุรกิจนี้จะมีผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทผู้ให้บริการจัดงาน ที่สนใจกระโดดเข้ามาทำธุรกิจลักษณะดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีก เพราะยังเหลือช่องว่างทางการตลาดอีกมาก และขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของเจ้าภาพในการตัดสินใจเลือกใช้บริการอีกด้วย
เชนธุรกิจ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับบริการรับจัดงานศพครบวงจร
สำหรับ Process หรือขั้นตอนการจัดงานศพ ไล่เรียงไปทีละ Step โดยทั่วไปจะมีการบริหารจัดการ รวมถึงค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ย โดยสรุปได้ดังนี้
ธุรกิจแต่งหน้า/แต่งตัวศพ
ก่อนที่จะนำร่างผู้ตายไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ญาติ ๆ จะจัดการอาบน้ำแต่งตัวให้ผู้ตายเสียใหม่ และแต่งหน้าเพื่อให้ผู้วายชนม์ดูดีที่สุด ทั้งนี้ หากผู้ตายเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลก็มักจะเป็นผู้แต่งหน้าศพให้ โดยมีทั้งเจ้าหน้าที่ซึ่งโรงพยาบาลว่าจ้างมาจากภายนอก และบุคลากรของโรงพยาบาลเอง ปกติมีค่าใช้จ่ายประมาณศพละ 1,000-2,000 บาท ค่าฉีดฟอร์มาลินปกติอยู่ที่ 500 บาท แต่หากเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ค่าฉีดยาศพจะสูงถึง 1,500-2,000 บาท เพราะจะคิดค่าความเสี่ยงด้วย เป็นต้น
ธุรกิจเสื้อผ้าไว้ทุกข์
โดยทั่วไปจะเป็นเสื้อผ้าสีดำ แต่สำหรับชาวจีน จะนิยมใส่สีขาวทั้งชุดในระหว่างพิธีสวดศพ ในกรณีที่เป็นลูกหลานหรือญาติสนิทจะต้องซื้อเสื้อผ้าเพื่อใส่ไว้ทุกข์ ซึ่งโดยปกติจะไว้ทุกข์ประมาณ 100 วัน
สำหรับผู้หลักผู้ใหญ่หรือทำงานมีชื่อเสียงทำให้ต้องได้รับเชิญให้ไปร่วมงานพิธีศพ ทำให้ต้องมีการเตรียมเสื้อผ้าสีดำไว้อย่างน้อย 3-5 ชุด ดังนั้นผู้ประกอบการจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปจึงมักจะมีชุดดำไว้จำหน่าย เนื่องจากสามารถขายได้เรื่อย ๆ ทุกเทศกาล
ธุรกิจของที่ระลึกในงานศพ
ปัจจุบัน นิยมแจกหนังสือเป็นของที่ระลึก โดยถ้าเป็นงานศพของผู้มีฐานะทางสังคมก็จะมีการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกเฉพาะงานขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งหนังสือเหล่านี้บางเล่มเป็นที่ต้องการของตลาดหนังสือ เนื่องจากเป็นที่นิยมของผู้อ่านมาก ทำให้มีการนำมาจำหน่ายต่อเป็นหนังสือมือสองอีกด้วย
แต่ถ้างานศพที่ไม่ใหญ่โตมากนัก ก็มักจะเลือกหนังสือเกี่ยวกับธรรมะมาแจกเป็นหนังสือที่ระลึกในงานศพ ซึ่งทำให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจสิ่งพิมพ์ นอกจากนี้ เจ้าภาพบางรายนิยมแจกของที่ระลึกในลักษณะของชำร่วย โดยติดสติ๊กเกอร์ว่าเป็นของที่ระลึกพิธีศพผู้ใด ของที่นิยมได้แก่ ที่รองแก้ว ยาหม่อง ยาดม ฯลฯ
ธุรกิจจัดเลี้ยงอาหาร (Catering)
ธุรกิจการจัดเลี้ยงอาหาร ในช่วงที่พระสวดอภิธรรม มูลค่าธุรกิจนี้อยู่ในเกณฑ์สูง ทำให้บรรดาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหาร และเบเกอรี่เล็งเห็นช่องทางธุรกิจ โดยการเข้าไปเสนอตัวเป็นผู้จัดการด้านอาหารให้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าภาพทั้งในลักษณะเป็นการจัดเลี้ยง
หรือในลักษณะของการจัดอาหารกล่อง เครื่องดื่มประเภทต่าง ๆ รวมทั้งของว่าง นับว่าเป็นการสร้างช่องทางธุรกิจเพิ่มขึ้นให้กับธุรกิจแคเทอริ่ง ซึ่งเป็นธุรกิจจัดเลี้ยงนอกสถานที่ที่มุ่งเจาะตลาดสัมมนาและงานต่าง ๆ เช่น งานเปิดตัวสินค้า หรือร้านค้า เป็นต้น โดยค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับประเภทอาหารและจำนวนแขกที่มาในงานเป็นสำคัญ
ธุรกิจร้านถ่ายรูป/วิดีโอ ธุรกิจร้านถ่ายรูป
ธุรกิจรับถ่าย/ตัดต่อวิดีโอได้รับอานิสงส์จากงานศพเช่นกัน โดยเจ้าภาพงานศพบางรายต้องการอัดขยายรูปของผู้เสียชีวิตเพื่อนำไปตั้งไว้หน้าศพในระหว่างวันที่สวดอภิธรรมศพ และวันที่เผาศพ
นอกจากนี้ เจ้าภาพยังถ่ายภาพพิธีศพ และบรรดาผู้เข้ามาร่วมงานเก็บไว้เป็นที่ระลึกอีกด้วย อาจจะดำเนินการเองหรือจ้างช่างถ่ายรูปมาดำเนินการให้ ในปัจจุบันยังมีธุรกิจรูปแบบใหม่คือ บริการแสดงภาพและความรู้สึกที่มีต่อผู้เสียชีวิตผ่าน ‘จอภาพพลาสม่า’ ที่ติดตั้งที่ศาลาสวดอภิธรรม เช่น แสดงประวัติของผู้เสียชีวิต แสดงภาพและความรู้สึกประทับใจ แสดงคำไว้อาลัยของครอบครัวและผู้ร่วมงานต่อผู้เสียชีวิต เป็นต้น โดยมีการจัดแสดงทุกวันที่มีการสวดอภิธรรม และเมื่อเสร็จสิ้นงานก็จะมอบซีดีให้กับเจ้าภาพงานศพ เป็นต้น
บทสรุป อย่างที่กล่าวไป พิธีจัดงานศพของไทยเรา ถือเป็นธุรกิจสร้างรายได้รูปแบบหนึ่ง และเป็น”ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft Power) ได้เช่นกัน ในเรื่องของประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ หรือเรื่องของ Spirit ที่ไม่เหมือนประเทศใดในโลก
โดยในบางบริบท สามารถนำมาเชื่อมโยงกับ “ทุนวัฒนธรรม” เช่น ต่อยอดเป็นอาชีพ ทำให้เกิดรายได้ จากภูมิปัญญาในด้านสถาปัตยกรรม หัตถกรรม เกษตรกรรม การจัดระบบชุมชน ด้านศิลปะ ประเพณี ความเชื่อ พิธีกรรมและวิถีชีวิต ฯลฯ
เพื่อผลักดันให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ที่แท้จริง ท่ามกลางโลกที่กำลังแข่งขัน ซึ่งทางรัฐบาลต้องสนับสนุนอย่างจริงจัง !
ไม่ใช่แค่หนังหรือละคร แต่ควรมองวัฒนธรรมให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ต่อยอดให้เกิดคุณค่าและมูลค่า สร้างรายได้เข้าประเทศ อย่างเป็นรูปธรรม ให้เกิดแรงดึงดูดจากนักท่องเที่ยว ที่เป็นเรื่องที่น่าค้นหา อย่ามองแบบฉาบฉวยในแวดวงบันเทิงเพียงอย่างเดียว !