สช. ผนึก อบจ.สงขลา-มรภ.สงขลา-ภาคี ใช้ ‘เติมสุขโมเดล’ พัฒนาระบบสุขภาพรองรับถ่ายโอนฯ จ.สงขลา


สช. จับมือ ‘อบจ.สงขลา – มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา-ภาคีเครือข่ายในจังหวัด’ สร้างความร่วมมือพัฒนาระบบบริการสาธารณะที่มีคุณภาพภายใต้ “เติมสุขโมเดล” นำร่อง 2 Sandbox ใน 2 อำเภอ ‘รพ.สต.เกาะใหญ่ อ.ควนเนียง – รพ.สต.รำแดง อ.สิงหนคร’ จัดตั้งศูนย์ One Stop Service ดูแลประชาชนทั้งมิติด้านสุขภาพ-สังคมอย่างครบวงจร บนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน พร้อมพัฒนาฐานข้อมูลกลาง-ขนส่งสาธารณะ เพิ่มการเข้าถึงบริการ ภายใต้บริบทการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.

 

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา(อบจ.สงขลา) และหน่วยงานภาคีเครือข่ายกว่า 20 องค์กร ร่วมกันทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่นภายใต้บริบทการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่ อบจ.สงขลา โดยมุ่งเน้นการวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เชื่อมประสานมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ที่เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการบริการท้องถิ่น ทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์ปรากฏการณ์พื้นที่ ร่วมกับแกนนำสมัชชาสุขภาพจังหวัด ทำหน้าที่จัดการะบวนการมีส่วนร่วม สร้างกลไกการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่นและการจัดทำนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่สู่การพัฒนาพื้นที่นำร่อง (Sandbox) ภายใต้แนวคิด “เติมสุขโมเดล” ในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.ควนเนียง และ อ.สิงหนคร โดยที่ อ.ควนเนียง จะนำร่องใน รพ.สต.เกาะใหญ่ ส่วน อ.สิงหนคร จะนำร่องใน รพ.สต.รำแดง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสาธารณะที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และยั่งยืน

 

 

นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายก อบจ.สงขลา ในฐานะประธานในพิธี เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ อบจ.สงขลา ได้รับถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ในปี 2566 จำนวน 23 แห่ง และในปี 2567 จำนวน 26 แห่ง รวมปัจจุบันเป็น 49 แห่ง ต้องยอมรับว่าในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านนั้นต้องเผชิญกับปัญหาหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องของบุคลากร งบประมาณ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหาที่ใกล้เคียงกันใน อบจ. หลายแห่ง ด้วยทิศทางนโยบายและการสนับสนุนจากส่วนกลางที่อาจยังไม่ชัดเจน จึงเป็นปัญหาที่ต้องอาศัยหลายภาคส่วนในการร่วมกันแก้ไขปัญหา

นายไพเจน กล่าวว่า ที่ผ่านมา อบจ.สงขลา มีความมุ่งมั่นในการจัดบริการสาธารณะด้านสุขภาพของท้องถิ่นมาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในด้านการแพทย์ฉุกเฉิน การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ การดูแลผู้สูงอายุ จนเกิดความเข้มแข็งอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดสงขลา และศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ อบจ.สงขลา ซึ่งได้รับการยอมรับเป็นต้นแบบระดับประเทศ โดยหลังจากนี้ ทาง อบจ.สงขลา ได้วางทิศทางนโยบายต่อไปในรูปแบบ “เติมสุขโมเดล”

 

 

สำหรับ “เติมสุขโมเดล” จะเป็นการพัฒนาระบบบริการสาธารณะครบวงจร ในรูปแบบ One stop service ครอบคลุมทั้งมิติด้านสุขภาพและมิติด้านสังคม ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ในการเข้ามาร่วมกันเติมเต็มระบบบริการ ตามบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบแบบไร้รอยต่อ บนฐานข้อมูลกลางเดียวกัน พร้อมการพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ โดยสนับสนุนให้ภาคประชาชนและภาคเอกชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการ เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ จากระบบบริการสาธารณะที่เกิดขึ้นภายใต้ต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่ในพื้นที่

“การจัดตั้งศูนย์บริการเติมสุข จะดำเนินการนำร่องในพื้นที่ อ.ควนเนียง และ อ.สิงหนคร โดยจัดบริการแบบ One stop service ซึ่งมีทั้งการฟื้นฟูสมรรถภาพในชุมชน คลินิกกายภาพ คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกผู้สูงอายุ ศูนย์การเรียนรู้การแพทย์ฉุกเฉิน และศูนย์บริการช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ ภายใต้การพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ร่วมกันอย่างเป็นระบบ ในขณะที่ปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการเนื่องจากไม่มีญาติหรือผู้ดูแลมาส่ง ทาง อบจ. ก็จะสนับสนุนรถบริการรับ-ส่งสาธารณะให้กับประชาชนในพื้นที่ด้วย” นายไพเจน กล่าว

 

 

ขณะที่ นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า เป็นที่ทราบดีว่าการกระจายอำนาจถือเป็นทิศทางที่ประเทศจะต้องมุ่งหน้าไป โดยเฉพาะการทำให้บริการสาธารณะขั้นพื้นฐานเข้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของท้องถิ่น อย่างไรก็ตามในบริการด้านสุขภาพ กรณีของการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า อบจ. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)รวมถึง รพ.สต. อาจต้องรับมือกับภาระและปัญหาในหลายๆ เรื่องที่ทางส่วนกลางอาจยังหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้

นพ.สุเทพ กล่าวว่า ในส่วนของ สช. จึงได้มีการดำเนิน “โครงการการศึกษาและพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่ออภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่นภายใต้บริบทการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ.” ร่วมกับสำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เพื่อศึกษาบริบทความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ปทุมธานี นครราชสีมา ขอนแก่น สงขลา และภูเก็ต เพื่อพัฒนาให้เกิดเป็นชุดความรู้ ข้อเสนอ ที่จะนำไปสู่การขยายผลท้องถิ่นที่สามารถจัดบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิได้ตรงกับปัญหาของประชาชนในพื้นที่ได้

 

 

“ด้วยเราเชื่อว่าคนที่รู้ปัญหาของพื้นที่ได้ดีที่สุด ก็คือคนปฏิบัติงานในพื้นที่ ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดของเรื่องนี้จึงจำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อนด้วยการมีส่วนร่วมและองค์ความรู้ โดยอาศัยหลักคิดที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่ง อบจ.สงขลา เองก็ถือเป็นพื้นที่ตัวอย่างแห่งหนึ่งของการพัฒนาระบบบริการระดับท้องถิ่น ผ่านกลไกความร่วมมือที่หลากหลาย และเชื่อว่าความร่วมมือจากการศึกษาร่วมกันครั้งนี้ จะมีส่วนในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และเป็นคำตอบให้กับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไปได้” นพ.สุเทพ กล่าว

 

 

ด้าน รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยโครงการฯ กล่าวว่า โจทย์ท้าทายของการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ในครั้งนี้ คือความสำเร็จที่จะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลที่ดีขึ้น เมื่อระบบการจัดการมาอยู่ที่ชุมชน และประชาชนมีส่วนร่วม ขณะเดียวกันท้องถิ่นเองก็จำเป็นที่จะต้องยกระดับความสามารถในเชิงการบริหารระบบบริการ การดูแลสุขภาพประชาชน ตลอดจนความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ฯลฯ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าท้องถิ่นสามารถทำให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิดีขึ้นกว่าเดิมได้

รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ภายใต้การไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือ 1. ระบบความร่วมมือและประสานงาน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ชุมชนกับท้องถิ่น แต่ยังรวมถึงภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ฯลฯ 2. ใช้กลไกที่มีอยู่อย่างคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) เข้ามาสนับสนุนสร้างการมีส่วนร่วม 3. การตั้งตัวชี้วัด รพ.สต. โดยท้องถิ่นเอง ให้สามารถจัดบริการสุขภาพแก่ประชาชนได้อย่างตรงจุดบนทิศทางที่กำหนดร่วมกันในพื้นที่ 4. การใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้เกิดบริการสุขภาพดีขึ้น หรือเข้าถึงประชาชนมากขึ้น เช่น ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)