เรียกได้ว่า 7-Eleven กลายเป็นร้านสะดวกซื้อเบอร์ 1 ที่เข้ามาครองตลาดผู้ให้บริการขายสินค้าอุปโภค-บริโภค ในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย และไม่รู้ว่าจะมีคู่แข่งแบรนด์อื่น จะเข้ามาล้มยักษ์ตัวนี้ลงได้
ด้วยปัจจัยทั้งภายใน และภายนอก ของการทำธุรกิจ ผสมผสานกับการไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาบริการต่าง ๆ ภายในร้านให้มีความหลากหลายมากขึ้น จากเมื่อก่อนแค่ขายสินค้า มาวันนี้บริการมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การชงเครื่องดื่มทั้ง All café และ kudsan, บริการจ่ายบิลต่าง ๆ ทั้ง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ตลอดจนการฝากเงิน จองตั๋ว คอนเสิร์ต และยังมีอื่น ๆ อีกที่ยังไม่ได้พูดถึง เรียกได้ว่ามาที่นี่ที่เดียวทำได้ครบ จบทุกอย่าง
คงไม่ใช่เรื่องแปลก หากเราจะเห็นผลประกอบการของร้าน 7-Eleven ในแต่ละไตรมาสมีรายได้ในระดับสูง แม้ช่วงการแพร่ระบาดโควิดอาจจะมีสะดุดลดลงอยู่บ้าง แต่เมื่อทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติ การทำธุรกิจก็เดินหน้าเต็มสูบอีกครั้ง สามารถสร้างกลยุทธ์ ทำการตลาดได้อย่างเต็มที่
อย่างไตรมาส 3/2566 ที่ smartsme จะยกมานำเสนอในบทความนี้
ร้าน 7-Eleven ภายใต้การบริหารของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวม 99,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 3,480 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.9% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
เมื่อลงรายละเอียดของตัวเลขที่เกี่ยวกับร้านสะดวกซื้อ พบว่ายอดขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 79,308 บาท ยอดซื้อต่อบิลประมาณ 82 บาท ลูกค้าเฉลี่ยต่อวัน 959 คน ด้านสัดส่วนรายได้ 75.4% มาจากสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และ 24.6% มาจากสินค้าอุปโภค โดยปัจจุบันมีจำนวนสาขาทั่วประเทศ 14,391 สาขา แบ่งเป็น (1) สาขาบริษัท 7,258 สาขา และ (2) ร้าน SBP และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 7,133 สาขา
โดยจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน แม้ว่าจะมีฝนตกตลอดไตรมาสก็ตาม ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นการบริโภคภายในประเทศที่ดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ร้าน 7-Eleven ได้รับอานิสงส์ จากนักท่องเที่ยวทั้งใน และต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น
7-Eleven ใช้กลยุทธ์อะไร
จากรายงานการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการสำหรับผลการดำเนินงาน (MD&A) ในไตรมาส 3/2566 ระบุว่าตัวเลขรายได้ในกลุ่มสินค้าอาหาร และเครื่องดื่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันจากปีก่อน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป กับการออกสินค้าใหม่ควบคู่กับโปรโมชัน ซึ่งดึงดูดให้ลูกค้าจ่ายเงินเพิ่มขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจนในเรื่องนี้เลย คือการออกแสตมป์แคมเปญที่สามารถใช้แทนเงินสด หรือเก็บสะสมได้ครบจำนวนที่กำหนดก็สามารถนำมาแลกเป็นสินค้าได้
นอกจากนี้ ยังมีกลยุทธ์ที่เรียกว่า O2O โดยเป็นโมเดลธุรกิจแบบออฟไลน์กับออนไลน์ ซึ่งสำคัญอย่างมากในยุคนี้ เพราะเป็นการปิดจุดอ่อน สร้างจุดแข็ง ผสมผสานทั้งสองรูปแบบเข้าไว้ด้วยกัน เมื่อมาดูที่ร้าน 7-Eleven ก็จะพบว่าธุรกิจมีร้านค้าที่เป็นออฟไลน์ และการสั่งซื้อของผ่านแอปพลิเคชัน พร้อมจัดส่งในรูปแบบเดลิเวอรี่ เหล่านี้ตอบโจทย์ลูกค้าในยุคปัจจุบันเป็นอย่างดี
ในส่วนของรายจ่ายนั้น ซีพีออลล์ยังพยายามที่จะควบคุมรายจ่ายอย่างรัดกุม ตลอดจนขยายสาขา 7-Eleven ตามแผนที่วางไว้ สอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชน ทั้งแหล่งท่องเที่ยว และทำเลที่มีศักยภาพ ซึ่งบริษัทวางแผนที่จะลงทุนเปิดสาขาใหม่ในไทยอีกประมาณ 700 สาขา ในปี 2566
อีกทั้ง การเพิ่มช่องทางเข้าถึงสินค้า และบริการสำหรับลูกค้า โดยที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น 7-Delivery, All Online และ Vending Machine ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งคาดการณ์รายได้ของธุรกิจแล้วว่าจะมาจากสาขาใหม่ และอัตราการเติบโตของยอดขายเฉลี่ยร้านเดิม
เรียกได้ว่า การทำธุรกิจร้านสะดวกซื้อของซีพีออลล์ มีการใช้แผนกลยุทธ์ที่สอดรับกับสถานการณ์ตลอดเวลา โดยคำนึงถึงการรักษาฐานลูกค้าเดิม และขยายฐานไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ
ที่มา: set, Cpall
เรื่องที่เกี่ยวข้อง