Vision Statement คืออะไร ? จำเป็นแค่ไหนสำหรับธุรกิจคุณ


The Plan is no Plan.. ความหมายคำ ๆ นี้ อาจใช้ได้กับการการเดินทางหรือการท่องเที่ยว แต่หากนำมาใช้กับการบริหารธุรกิจ คงมีความเสี่ยงสูง ! หากคุณไม่มี Plan หรือ Vision ธุรกิจคุณอาจไปไม่ถึงเป้า หรือเละไม่เป็นท่า !

การทำธุรกิจต้องมี Vision Statement หรือ “การสร้างวิสัยทัศน์” ฉายภาพให้เห็นถึงการที่จะไปสู่เป้าหมายของแบรนด์หรือการทำธุรกิจ ผ่านคำพูดหรือข้อความ และมีการสื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุก ๆ ฝ่าย (Stakeholders) ได้แก่

– เป็นพนักงาน
– คู่ค้าทางธุรกิจ
– ลูกค้า
– ผู้ถือหุ้น
– สื่อมวลชน
– และคนที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ แอดฯ มีเทคนิค เริ่มต้นการสร้างวิสัยทัศน์ให้กับธุรกิจของคุณ ด้วยวิธีการเขียน Vision Statement อย่างไร ? ให้แตกต่าง ผู้คนจดจำคุณ และทำให้ธุรกิจนั้นทรงพลัง !

1. Vision Statement นั้นควรจะกระชับได้ใจความ

ไม่ควรเป็นอะไรที่เวิ่นเว้อหรือยาวจนเกินไป จนทำให้จับใจความสำคัญอะไรไม่ได้เลย เรากำลังพูดถึงความยาวเพียวแค่หนึ่งประโยคหรือไม่ควรเกินสองประโยคซึ่งดูมีความเหมาะสม เพราะคุณต้องการให้คนที่อ่านทั้งคนในองค์กรรวมถึงลูกค้านั้นจดจำได้อย่างขึ้นใจ และที่สำคัญ คือ ต้องเข้าใจในความหมายที่สื่อออกมาด้วย โดย Vision Statement นั้นก็จำเป็นต้องจับใจคนอ่านด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น..

– เรามุ่งมั่นผลิตสินค้าที่ดี เพื่อผู้บริโภค และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรไทย

– ร้านอาหารสุขภาพ ที่ไม่ใช่ขายแค่สลัด แต่เราใช้ผักที่ปลูกเองแบบออร์แกนิค ปลอดสารพิษ เพื่อส่งมอบสิ่งที่ดีมีประโยชน์ให้คนกินทั่วประเทศ

2. เรียบง่ายแต่ทรงพลัง

นอกจากความกระชับได้ใจความแล้ว ความเรียบง่ายก็เป็นพื้นฐานที่ทำให้การสร้างแบรนด์นั้นกลายเป็นที่จดจำได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการเขียน Vision Statement นั้น ไม่ควรสร้างให้สลับซับซ้อนไม่ต้องให้คนอ่านนั้นตีความเยอะ และต้องมีพลังพอที่จะทำให้ลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจดจำได้ขึ้นใจ ซึ่งความทรงพลังนั้นจะช่วยกระตุ้นและผลักดันให้คนในองค์กรช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายได้อย่างไม่ยากเย็น

3. Vision Statement ไม่ใช่การขายของ

Vision Statement ไม่ควรใส่ข้อมูลสินค้าหรือบริการไปแบบตรง ๆ เพราะ Vision มีลักษณะของการสร้างการโน้มน้าวใจให้คนที่เห็นนั้นเกิดความหวังว่า จะได้รับในสิ่งแบรนด์หรือธุรกิจจะมอบให้ในระยะยาว อย่า ! ใส่ข้อมูลสินค้าแบบ Hard Sales เพราะมันจะทำให้ลูกค้านั้นรู้สึกว่า ถูกยัดเยียดตั้งแต่แรกเริ่ม โดยที่ยังไม่รู้จักแบรนด์ของคุณเลย

 

4. สะท้อนในสิ่งที่ตัวเองเป็น

อย่า ! พยายามสร้างอะไร ที่มันสวยหรูเกิดกว่าศักยภาพของตัวเองที่สามารถทำได้ และไม่ทำให้ความคาดหวังของลูกค้านั้นพังทลาย อย่า ! พยายามสื่อสารอะไรออกไป ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเรา ซึ่งนั่นหมายถึงคุณต้องเข้าใจในแบรนด์ เป้าหมาย และธุรกิจของคุณเป็นอย่างดี

5. มีคุณค่าซ่อนอยู่ภายใน

Vision Statement ต้องมีความแตกต่างและโดดเด่นกว่าคู่แข่ง คือการนำเสนอคุณค่า (Values) ของสิ่งที่แบรนด์จะมอบให้กับลูกค้ารวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคนอื่น ๆ

คุณค่าที่ทรงพลังนั้น ต้องสามารถขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ได้อย่างแข็งแกร่ง และทำให้ลูกค้าสัมผัสได้ถึงสิ่งที่แบรนด์จะมอบให้ พนักงานเองก็ต้องมีความตั้งใจจริงในการสร้างสรรค์คุณค่าให้เกิดขึ้นทั้งภายในตัวเอง และส่งมอบสู่ลูกค้าด้วยเช่นกัน โดยคุณค่านั้นอาจมาได้จาก..

– สินค้า
– บริการ
– ความสำเร็จของธุรกิจลูกค้า
– การมีมาตรฐานสากล
– ความแตกต่างในตลาด
– การสร้างประสบการณ์ที่ดี
– ราคาที่ประทับใจ
– การรับประกันที่ยาวนาน
– มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ

 

Vision Statement ก็เหมือนกับ Road Map หรือ พิมพ์เขียว ที่คุณยึดไว้เป็นแก่นหรือรากฐานในการนำพาธุรกิจให้เดินต่อไป ให้เติบโตต่อไป ทำให้ธุรกิจของคุณยังอยู่ในกรอบ ยังคงเดินบนเส้นทางที่ตั้งเป้าหมายและอยากให้เป็นอยู่ ไม่เสียทรง ไม่ออกนอกลู่นอกทาง

 

แม้แต่ธุรกิจ SME หรือขนาด Micro หรือธุรกิจรายเล็ก ๆ ก็สามารถ มี..หรือเขียนแผน Vision Statement ได้เช่นกัน ลองนำไปปรับใช้กันดูในแบบของคุณเอง