สคช. เยือนราชบุรี เปิดโลกคุณวุฒิวิชาชีพ ฝึกทักษะทำมาหากิน มุ่งมั่นเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งท้องถิ่น


17 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงยิมเนเซียม (สนามฟุตซอล) จังหวัดราชบุรี สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. นำโดย นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ยกทัพลุยจังหวัดราชบุรี จัดกิจกรรม “เปิดโลกคุณวุฒิวิชาชีพ ฝึกทักษะทำมาหากิน” เพื่อสร้างต้นแบบการฝึกอบรมอาชีพร่วมกับหน่วยงานองค์กรปกครองท้องถิ่น ตอบโจทย์การพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพที่เหมาะสม พร้อมส่งเสริมต่อยอดพื้นที่ “เมืองแห่งมืออาชีพ” โดยมี คณะผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาลเมืองราชบุรี และนางสาวกุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี ให้การต้อนรับ

นางสาววรชนาธิป กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นอีกครั้ง ที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น จัดการฝึกอบรม สร้างอาชีพที่หลากหลายกระจายไปสู่ชุมชน โดยจังหวัดราชบุรี ถือเป็นจังหวัดนำร่อง ในการพัฒนาองค์ความรู้ โดยการใช้วัตถุดิบ หรือเครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดประโยชน์ พร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาผสมผสานกับทรัพยากร ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมพื้นถิ่น เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้ครอบครัว ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้สู่ชุมชน

 

 

ภายในงาน มีจัดการอบรมสร้างความแข็งแกร่ง ด้วยการชี้ช่องทางในการประกอบอาชีพ และผลักดันองค์ความรู้ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนทั้งในด้านทักษะพื้นฐานการผลิต การบริการ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพ ของราชบุรีมีโอกาสเริ่มต้นธุรกิจและเติบโตเป็นผู้ประกอบการใหม่ในชุมชน อย่างเป็นมืออาชีพ อาทิ การทำอาหารไทยสร้างอาชีพ การแปรรูปสมุนไพรสร้างรายได้ เมนูเครื่องดื่มจากบาริสต้ามืออาชีพ เกษตรปรุงดิน สำหรับปลูกผัก ทำปุ๋ยออแกนิคสร้างรายได้ และเทคนิคการถ่ายภาพสินค้าและการทำตลาดออนไลน์ โดย True เน็ตทำกิน ซึ่งผู้เข้าอบรมจะได้รับทักษะความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ เสริมสร้างรายได้ให้กับตนเองและชุมชนต่อไป

 

 

สำหรับจังหวัดราชบุรี มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวกว่า 88,000 ไร่ ในแต่ละปีมีผลผลิตเป็นจำนวนมาก ขณะที่มะพร้าวน้ำหอมเป็นหนึ่งในสินค้าที่ขึ้นทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ Gl ของจังหวัด จึงมีความต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ในหมวดเพื่อการดูแลสุขภาพและความงาม เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตร การที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มาร่วมพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในพื้นที่ครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมต่อยอดไปยังพ่อค้า แม่ค้า ผู้ประกอบการ ผู้ประกอบอาชีพ ที่สามารถนำทักษะไปเป็นช่องทางทำมาหากินต่อไปได้ จะช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเสริมสร้างอาชีพใหม่ๆ ให้กับคนในชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย