ศึกอินเทอร์เน็ต! การควบรวมธุรกิจ ทำเพื่อประโยชน์ลูกค้าจริงหรือ?


“อินเทอร์เน็ต” กลายเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้สำหรับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน ด้วยปัจจุบันที่ทุกคนล้วนมีสมาร์ตโฟนติดตัว และอินเทอร์เน็ตย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อเข้าไปสู่โลกออนไลน์ อีกทั้ง ทุกบ้านหรือที่พักอาศัยก็มีการติดสัญญาณอินเทอร์เน็ตเช่นกัน

ดังนั้น ธุรกิจที่ให้บริการเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะเน็ตบ้าน จึงเป็นสิ่งที่ต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก นับวันความต้องการก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมีโอกาสมากมายรออยู่ข้างหน้า

เมื่อลงรายละเอียดของธุรกิจประเภทนี้ เราจะพบว่ามีแบรนด์ที่เป็นผู้นำในบริการด้านนี้ 3 แบรนด์หลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่ AIS, 3BB และ True online อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ก็มีดีลใหญ่ครั้งสำคัญ หลัง AIS ปิดดีลเข้าซื้อกิจการของ 3BB เป็นเงินมูลค่ากว่า 28,371 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อย โดยให้คำมั่นว่าการควบรวมในครั้งนี้เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้ทุกคนเข้าสู่โลกที่มีแต่คำว่า “มากกว่า” ในทุกด้านของชีวิต มากกว่าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มากกว่าประสบการณ์สุดพิเศษที่เคยได้รับ

แม้ว่าเรื่องนี้จะถูกยื่นให้กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้พิจารณา แต่สุดท้ายก็มีมติออกมาว่าเรื่องนี้สามารถทำได้

ก่อนอื่น Smartsme จะพามาดูภาพรวมของ 3 แบรนด์ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านกันว่าเป็นอย่างไร

มาเริ่มกันที่ AIS Fibre อยู่ภายใต้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) โดยในปี 2565 ธุรกิจมีรายได้ 156,143 ล้านบาท กำไร 26,011 ล้านบาท (รายได้ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน 10,064 ล้านบาท) มีจำนวนผู้ใช้ 2.4 ล้านราย) รายได้ต่อผู้ใช้ 428 บาท/เดือน

ด้าน 3BB อยู่ภายใต้บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) โดยในปี 2565 ธุรกิจมีรายได้ 20,287 ล้านบาท ขาดทุน 2,029 ล้านบาท (รายได้ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน 18,028 ล้านบาท) จำนวนผู้ใช้งาน 2.31 ล้านราย รายได้ต่อผู้ใช้ 552 บาท/เดือน

ส่วน True online ภายใต้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาขน) โดยในปี 2565 ธุรกิจมีรายได้ 218,205 ล้านบาท ขาดทุน 5,914 ล้านบาท (รายได้ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน 22,248 ล้านบาท) ราย จำนวนผู้ใช้งาน 3.79 ล้านราย รายได้ต่อผู้ใช้ 477 บาท/เดือน

เมื่อดูในเรื่องในตัวเลขจะเห็นได้ชัดเจนว่า การควบรวมกิจการระหว่าง AIS กับ 3BB ทำให้ธุรกิจของพวกเขากลายเป็นเบอร์ 1 ในตลาดนี้ แซงหน้า True ในด้านของจำนวนผู้ใช้งานทันที โดย AIS กับ 3BB จะมีผู้ใช้รวมกันราว 4.7 ล้านราย ส่วน True มีจำนวนผู้ใช้งาน 3.79 ล้านราย หากมองถึงกลยุทธ์ทางธุรกิจการปิดดีลครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการใช้เส้นทางลัดพาตัวเองก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ด้วยการเข้าไปซื้อกิจการแบรนด์ที่อยู่ในแวดวงเดียวกันเข้ามาเป็นเจ้าของเอง ทำให้มีฐานลูกค้ามากขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนหน้านี้ (ณ สิ้นปี 2021) ที่ True ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดตามจำนวนผู้ใช้งานอยู่ที่ 37.7% ตามมาด้วย 3BB คิดเป็น 29.4%, NT คิดเป็น 15.9% และ AIS คิดเป็น 14.3% ตามลำดับ เรียกได้ว่าดีลนี้สร้างการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดเลยทีเดียว

อีกทั้ง AIS สามารถได้ลูกค้าที่ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น โดย 3BB มีจุดเด่นการให้บริการลูกค้าพื้นที่ชนบท ส่วน AIS ให้บริการลูกค้าในพื้นที่เมืองเป็นหลัก กลายเป็นสร้างความได้เปรียบอยู่เหนือกว่าคู่แข่ง แม้ AIS จะเริ่มเข้ามาในธุรกิจนี้ทีหลังก็ตาม แต่ก็เป็นเป้าหมายทางธุรกิจอยู่แล้วกับการกระจายการลงทุนไปสู่บริการอื่น ๆ

นอกจากนี้ ยังง่ายที่จะช่วยให้ AIS ทำการตลาดร่วมกับบริการอื่น ๆ ของธุรกิจที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ตมือถือ, กล่อง AIS Play บวกเข้าด้วยกัน และจ่ายค่าบริการแบบทีเดียว คล้ายกับ True ที่เคยทำก่อนหน้านี้

แต่หากมองในมุมของผู้บริโภคนี่เป็นการตัดตัวเลือกผู้ให้บริการลดน้อยลง จากเดิมที่มีอยู่ 3 แบรนด์ ลดเหลือ 2 แบรนด์ นำมาซึ่งความกังวลว่าพวกเขาจะไม่มีทางเลือก และได้รับบริการที่ไม่มีคุณภาพ ถูกกดเลือกของราคาที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่เรื่องนี้หากเราดูมาตรการของ กสทช. ก็จะมีเงื่อนไขที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าอะไรทำไม่ได้บ้าง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ทั้ง AIS และ 3BB ไม่สามารถขึ้นราคา หรือลดคุณภาพบริการได้ ซึ่งต้องคงราคาแพ็กเกจขั้นต่ำสุด 5 ปี สำหรับลูกค้าใหม่ และลูกค้าเก่าจนกว่าจะหมด หรือยกเลิกสัญญา ตลอดจนมีแพ็กเกจทางเลือกด้านราคา และแยกรายบริการ

ที่มา:งานวิจัยประเมินการควบรวมธุรกิจระหว่าง AIS และ 3BBตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยAIS, nbtc