หนึ่งในพันธสัญญาสำคัญจากการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 28 (COP28) จัดขึ้นที่ ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คือการเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาดเพิ่ม 3 เท่า ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) เพราะเป็นหนึ่งในการลดอุณหภูมิโลกนั่นส่งผลทำให้นักลงทุน ภาคการผลิต ภาคธุรกิจเริ่มเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด เพื่อให้สอดคล้องมาตรการต่างๆ ที่กำลังประกาศนำมาบังคับผู้ผลิตส่งสินค้าไปในประเทศพัฒนา อาทิ สหภาพยุโรป มีกฎหมายรับมือภาษีคาร์บอนข้ามแดน (CBAM)
กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม จึงร่วมมือกันปรับโครงสร้างการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม ที่มาจากพลังงานสีเขียว หรือ พลังงานสะอาดมากขึ้น ตอโจทย์ความต้องการของนักลงทุนใหม่ และการเปลี่ยนผ่านของกลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศ ที่จะมีการขยายการลงทุนที่มีการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ให้สอดคล้องกันกับทิศทางการขับเคลื่อนความยั่งยืนของโลก
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงแผนการจัดหา “ไฟฟ้าสีเขียว” หรือไฟฟ้าที่มีกระบวนการผลิตจากพลังงานสะอาด อย่างมีมาตรฐาน โดยมีการกลไกการรับรองมาตรฐานแหล่งที่มายเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทำให้มั่นใจได้ว่ามาจาก “ไฟฟ้าสีเขียว” ที่แท้จริง และมีปริมาณเพียงพอ ในการสนองตอบความต้องการ
ไฟฟ้าสีเขียว..เปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทย
การเตรียมพร้อมดังกล่าว ถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างประเทศ
(Foreign Direct Investment : FDI) ที่จะสามารสร้างโอกาสในการขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจสีเขียว รองรับการขยายการลงทุน หรือ ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ทั้งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ขจัดอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน จากภาษีคาร์บอนข้ามแดน (CBAM)
“ถือเป็นครั้งแรกที่ไทยจะมีกระบวนการผลิต จัดหา และรับรองไฟฟ้าสีเขียวใช้ เป็นการแสดงศักบภาพความพร้อมของประเทศ ในด้านการให้บริการไฟฟ้าสีเขียวเพื่อรองรับความต้องการพลังงานของธุรกิจ หรือบริษัทข้ามชาติ”
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงความต้องการใช้พลังงานสีเขียวของภาคธุรกิจ รวมถึงพันธกิจของรัฐบาลในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน จึงมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนา กำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan : PDP) จะต้องมีการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดเข้าสู่ระบบการจ่ายไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในปัจจุบันระบบการจ่ายไฟฟ้าสามารถจัดการบริการรองรับการจ่ายไฟฟ้าได้ทั้งสองรูปแบบ ทั้งแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะไม่สามารถระบุแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการ และแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถระบุแหล่งที่มาได้
โดยทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) หรือ UGT คือไฟฟ้าที่ผลิตมาจากแหล่งที่ไม่ปล่อยคาร์บอน ปราศจากกระบวนการเผาไหม้ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม มีการจัดทำระบบเปิดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถรับรู้แหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการได้ พร้อมกับมีระบบใบรับรองการผลิตไฟฟ้าสีเขียวที่มีมาตรฐานที่ใช้ในการการันตีแหล่งผลิตการใช้พลังงานสะอาด การปล่อยคาร์บอน ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวทุกกลุ่ม
พลิกเกมชิงอุตสาหกรรมใหม่
สู่โมเดล BCG
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจัดหาไฟฟ้าสีเขียวด้วยกระบวนการรับรองอย่างมีมาตรฐาน และมีปริมาณเพียงพอรองรับแนวโน้มความต้องการพลังงานสะอาดของความภาคอุตสาหกรรมไทยและต่างชาติ นอกจากจะเป็นการยกระดับภาคการผลิตของอุตสาหกรรมไทยให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว ยังจะเป็นการสร้างความได้เปรียบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ สร้างโอกาสให้กับประเทศในการเป็นฐานการผลิตรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่จากต่างประเทศ
“กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงส่งเสริมการประกอบกิจการอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) และภายใต้โครงการ UGT ของภาครัฐ จะเป็นการต่อยอดและยกระดับอุตสาหกรรม สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดให้มากยิ่งขึ้น” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว
เปิดฟังความเห็นรอบสุดท้าย
ก่อนเคาะเกณฑ์ไฟฟ้า
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กกพ. ได้ประกาศหลักเกณฑ์การให้บริการและการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแล้ว และอยู่ระหว่างนำ (ร่าง) ข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวซึ่งกำหนดภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะเปิดบริการไฟฟ้าสีเขียวให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนได้อย่างเป็นทางการ
“การเตรียมความพร้อมในการจัดหาไฟฟ้าสีเขียว อัตราค่าบริการ และมาตรฐานกระบวนการรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียว กกพ. ได้ทยอยดำเนินการมาเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังสะอาดภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) เข้าสู่ระบบกว่า 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 ควบคู่ไปกับการออกแบบกำหนดหลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว และแนวทางการกำกับดูแลให้กระบวนการบริหารจัดการและรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียวให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานสากล ซึ่งขณะนี้เสร็จเรียบร้อยทั้งหมด และพร้อมให้การไฟฟ้าให้บริการแล้ว” นายเสมอใจ กล่าว
สำหรับขั้นตอนสำหรับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวนั้น การไฟฟ้าซึ่งเป็น
ผู้ให้บริการในแต่ละพื้นที่จะประกาศให้ทราบต่อไป
อย่างไรก็ตาม การประกาศโครงการ UGT นับเป็นจุดเริ่มต้นโดยภาครัฐ เพื่อให้ผู้ให้บริการพลังงานทุกภาคส่วนเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน ในระยะเริ่มต้นอาจยังมีข้อจำกัด โดย กกพ. เล็งเห็นว่าจะสามารถขยายโครงการนี้ให้ครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าได้หลากหลายขึ้นและปรับปรุงข้อจำกัดต่างๆ ในระยะถัดไปได้ โดยอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงต้องได้รับความเห็นและเสียงสะท้อนจากผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวด้วย