หลักการบริหารเป็นทักษะสำคัญของคนทำธุรกิจที่ต้องมีติดตัว แต่ด้วยวัน-เวลาที่เปลี่ยนแปลงไป บางทีหลักการ หรือแนวคิดที่เรายึดติดเอาไว้เป็นแนวทางในการทำงานอาจจะใช้ไม่ได้เสมอไป และต้องมีการปรับให้มีความเหมาะสมกับบริบทให้ราบรื่นที่สุด
เราไม่ต้องสงสัยเลยว่าโลกแห่งการทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากปัจจัยในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี, โลกาภิวัตน์, บรรยากาศในที่ทำงานที่ไม่เหมือนเดิม เพื่อที่จะประสบความสำเร็จ ผู้นำหรือผู้บริหารในยุคปัจจุบันจำเป็นต้องหาแนวทางจัดการที่ทันสมัยกว่านี้มาประยุกต์ใช้ ทั้งแนวคิด และกลยุทธ์ใหม่ ๆ
โดยในบทความนี้ Smartsme จะพาไปรู้จักผู้นำแบบดั้งเดิม และผู้นำแบบใหม่ โดยทั้งสองแบบมีข้อดี-ข้อเสีย แตกต่างกันออกไป ซึ่งเราสามารถนำเอา 2 แนวทางนี้มาประยุกต์ใช้ เสริมส่วนที่ขาดหายซึ่งกันและกันได้ เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดออกมา
ความแตกต่างระหว่าง “ผู้นำแบบเดิม” กับ “ผู้นำสมัยใหม่”
มองได้ว่าผู้นำแบบเดิมมักมีรูปแบบการบริหารแบบ “เผด็จการ” หมายความว่าพวกเขาตัดสินใจโดยไม่มีใครเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือรับข้อมูลจากผู้อื่น แต่ผู้นำสมัยใหม่ มักมีรูปแบบการทำงานร่วมกัน พร้อมให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และเดินหน้าไปสู่เป้าหมายพร้อมกัน
ในส่วนของการทำงาน ผู้นำแบบเดิมอาจให้ความสำคัญกับเป้าหมายที่เน้นไปที่การทำงาน ขณะที่ผู้นำสมัยใหม่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายที่มุ่งเน้นผู้คนมากกว่า โดยทั่วไปแล้วผู้นำแบบดั้งเดิมจะใช้แนวทางจากบนลงล่าง ผ่านการตัดสินใจที่ปราศจากการได้รับข้อมูลจากผู้อื่น สวนทางกลับผู้นำยุคใหม่ที่มีแนวโน้มที่จะใช้วิธีการสร้างการมีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตยมากกว่า สร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ
เรื่องนี้ยังขยายถึงบทลงโทษที่ผู้นำแบบดั้งเดิมจะใช้มาตรการลงโทษบังคับใช้ตามเจตจำนงของตนเอง ส่วนผู้นำสมัยใหม่จะเน้นการสร้างแรงบันดาลใจมากกว่า
ที่กล่าวมาเป็นภาพรวมของการบริหารของผู้บริหารดั้งเดิม และผู้บริหารยุคใหม่ ที่นี้เรามาดูกันต่อว่า หากในเชิงการทำธุรกิจที่ชี้ให้เห็นว่าผู้บริหารยุคใหม่ทำได้ดีกว่าผู้นำยุคเก่า
1.โฟกัสเป้าหมาย: ผู้นำยุคใหม่มักให้ความสำคัญกับการบรรลุผลลัพธ์มากกว่าผู้นำแบบเดิม ๆ ซึ่งหมายความว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะเน้นการดำเนินการที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร แทนที่จะรักษาสภาพคงอยู่ที่มี
2.เน้นการทำงานร่วมกัน: ผู้นำยุคใหม่มักจะเน้นการทำงานร่วมกัน และการทำงานเป็นทีมมากกว่าความสำเร็จส่วนบุคคล สิ่งนี้จะกลายเป็นการสร้างความเหนียวแน่น เกิดเป็นความสร้างสรรค์ และมีนวัตกรรมเกิดขึ้น
3.ความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง: ผู้นำยุคใหม่มุ่งมั่นที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อตัวเอง และทีมของพวกเขา สิ่งนี้ทำให้พวกเขาไม่พลาดเทรนด์ ตลอดจนการพัฒนาในอุตสาหกรรมของตน รวมถึงพัฒนาทักษะความรู้ใหม่ ๆ
4.โฟกัสกับการเสริมสร้างศักยภาพพนักงาน: ผู้นำยุคใหม่มุ่งมั่นที่จะเพิ่มศักยภาพให้กับพนักงานของตน แทนที่จะทำเพื่อตัวเอง สิ่งนี้สามารถนำไปสู่ความพึงพอใจ และสร้างแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น
5.เปิดกว้างต่อการเปลี่ยนแปลง: ผู้นำยุคใหม่มักจะเปิดรับการเปลี่ยนแปลง ทั้งในลักษณะที่สิ่งที่ทำ และเป้าหมายที่ตั้งไว้สำหรับองค์กร สิ่งนี้ทำให้พวกเขาปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ และโอกาสใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด
ที่มา: hidayatrizvi