ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่กับโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ ว่าสุดท้ายแล้วควรดำเนินการเดินหน้าต่อ หรือหยุดอยู่แค่นี้ ไม่ควรไปต่อ แน่นอนว่าต่างฝ่ายก็ยกข้อดี-ข้อเสีย ออกมานำเสนอถึงความคุ้มค่าที่จะเกิดขึ้นกับผลกระทบที่จะตามมา
โดยวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จังหวัดระนอง ซึ่งงานนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการสร้างแลนด์บริดจ์ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีไทยก็มีการทวิตข้อความผ่าน X ว่าจังหวัดระนองเป็นเป้าหมายจะมีบทบาทสำคัญมาพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย โครงการแลนด์บริดจ์จะมาสร้างอาชีพ รายได้ และพัฒนาพื้นที่ให้คนในพื้นที่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
โครงการแลนด์บริดจ์เชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน เรียกได้ว่าเป็นอภิมหาโปรเจ็กต์ยักษ์ 1 ล้านล้านบาท โดยโปรเจ็กต์นี้เคยมีการพูดถึงกันมาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ปี 2528 แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างที่ต้องเป้าหมายไว้สักที และปัจจุบันถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้งในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีการรับหลักการไว้เรียบร้อยแล้ว
หากเรามองว่า ทำไมโครงการแลนด์บริดจ์ถึงต้องเกิดขึ้น หากเกิดขึ้นจริง และทำสำเร็จ ประโยชน์ที่ตามมาคือประเทศไทยจะกลายเป็นประตูการค้านานาชาติด้านโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้าทางเรือเลยทีเดียว โดยโครงการนี้จะแบ่งจะแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่
1.ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามัน จ.ระยอง
2.ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย จ.ชุมพร
3.เส้นทางเชื่อมท่าเรือทั้งสองฝั่งระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร
4.การถมทะเลเพื่อพัฒนาสนับสนุนท่าเรือ
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าทุกวันนี้การเดินเรือขนส่งสินค้า หากจะเดินทางมาจากฝั่งอ่าวไทยมาอันดามัน หรือจะข้ามมายังอีกฝากหนึ่ง เรือจะต้องไปอ้อมที่ช่องแคบมะละกาที่อยู่ทางตอนใต้ของมาเลเซีย และสิงคโปร์ นั่นหมายความว่าตอนนี้การขนส่งทางน้ำในภูมิภาคนี้สิงคโปร์ควบคุมทั้งหมด แต่หากโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้นก็จะทำให้ประเทศไทยเนื้อหอมมากขึ้น เพราะจะทำให้เรือขนส่งสินค้าไปต้องเดินทางไกลไปถึงสิงคโปร์ ซึ่งใช้ระยะเวลาเฉลี่ย 9 วัน แต่สามารถตัดเข้าจากจังหวัดชุมพรไปยังระนองจะใช้ระยะเวลาเพียง 5 วันเท่านั้น จะทำให้สิงคโปร์มีคู่แข่งเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการเดินเรือขนส่งสินค้า
นอกจากนี้ ยังมีข้อดีในด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจของภาคใต้ที่จะทำให้จีดีพีเติบโต เกิดความคึกคักทางด้านโลจิสติกส์ เนื่องจากมีเรือขนส่งสินค้าสัญจรมากขึ้น และเกิดการจ้างงานให้กับคนในพื้นที่ได้มีรายได้ แต่ข้อเสียก็มีเหมือนกัน ซึ่งคงหนีไม่พ้นเรื่องสิ่งแวดล้อมจากการขุดคลองเป็นระยะทาง 90 กิโลเมตร ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น ป่าไม้ สัตว์ พันธุ์พืช ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงมลพิษที่ปริมาณเรือขนส่งสินค้าที่มากขึ้น บางทีคราบน้ำมัน หรือของเสียถูกปล่อยปะปนไปกับน้ำทะเล และมีการพูดถึงความไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนที่ไม่ตอบโจทย์ผู้ขนส่งเท่าไหร่
สุดท้ายก็ต้องมาปรับความสมดุลทั้งในเรื่อง “เศรษฐกิจ” และ “สิ่งแวดล้อม” ให้สามารถเดินควบคู่ไปด้วยกันได้
ทั้งนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ 1 ล้านล้านบาท จะเป็นการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งเราจะเห็นที่ผ่านมารัฐบาลมีการเดินสาย Road Show เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น ให้เข้ามาลงทุน