คาดปี 2567 ตลาด Food Delivery หดตัว 1% เหตุคนกลับไปกินที่ร้าน-ราคาอาหาในแอปฯ ปรับสูงขึ้น


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินในปี 2567 มูลค่าตลาด Food Delivery จะอยู่ที่ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท หดตัว 1.0% จากปี 2566

ผลการศึกษาในครั้งนี้ เผยว่าในปี 2567 ปริมาณการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน หรือ Food Delivery น่าจะลดลงประมาณ 3.7% จากปี 2566 โดยประเมินว่ามูลค่าตลาด Food Delivery จะอยู่ที่ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท หดตัว 1.0% จากปี 2566 แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารเฉลี่ยน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2.8% ซึ่งมีค่าเฉลี่ยประมาณ 185 บาท/ครั้งของการสั่งซื้อ นำมาสู่จำนวนครั้ง และปริมาณการสั่งให้ลดลง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาด Food Delivery หดตัว มี 2 ประเด็นด้วยกัน

1.ผู้บริโภคกลับไปทานอาหารที่ร้าน คนส่วนใหญ่กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ใช้บริการ Food Delivery เกือบทั้งหมด (คิดเป็น 94% ของผู้ตอบ) ยังมีการใช้บริการ Food Delivery แต่ 48% คิดว่าจะสั่งอาหารน้อยลง ซึ่งเป็นอัตราเพิ่มขึ้นจากผลสำรวจในเดือน มิ.ย.66

ด้านผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม จึงต้องใช้กลยุทธ์ขยายฐานลูกค้าในพื้นที่ต่างจังหวัด เช่น เมืองท่องเที่ยวรอง ผ่านบริการใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ส่วนลดการบริการเรียกรถ, ส่วนลดการนั่งทานอาหารในร้านที่เป็นพันธมิตร, การสร้างพันธมิตรข้ามธุรกิจ

2.ราคาอาหารเฉลี่ยในแอปฯ ปรับตัวสูงขึ้น ช่วงเวลาที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้ง ค่าแรง ค่าวัตถุดิบ ค่าสาธารณูปโภค และต้นทุนทางการเงินที่ปรับตัวสูง ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับขึ้นราคา

สำหรับในปี 2567 คาดว่าราคาอาหารเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2% ต่อเนื่องจากราคาเฉลี่ยที่ปรับขึ้นประมาณ 5.7% ในปี 2566 สอดคล้องกับผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ส่วนหนึ่งมองว่าการสั่งอาหารจากแอปฯ มีราคาแพงขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของการแข่งขันเรื่องโปรโมชันที่ลดลงเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ จากการที่แพลตฟอร์มหันมาเน้นสร้างกำไร หลังส่วนใหญ่บันทึกขาดทุนสะสม โดยปัจจุบัน ต้นทุนการทำธุรกิจของผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Food Delivery ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ความยืดหยุ่นในการทำตลาดด้วยการลดค่า GP และส่วนลดค่าจัดส่งมีข้อจำกัด

แม้ว่าเทรนด์การสั่งอาหาร Food Delivery จะมีทิศทางชะลอตัว แต่ช่องทางบริการนี้ก็ยังสำคัญอยู่ เนื่องจากผู้คนจำนวนมากจำเป็นต้องใช้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน หรือ Work From Home เป็นต้น ตลอดจนยังเป็นช่องทางสำคัญของร้านอาหารที่สัดส่วนรายได้จาก Food Delivery ยังสูงกว่าการให้บริการหน้าร้าน