สิ่งเลวร้ายยังมาไม่ถึง ราคาโกโก้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ คาดกระทบผู้บริโภคปลายปี


เราอาจได้เห็นผลกระทบกับผู้บริโภคเมื่อราคาโกโก้พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากโลกกำลังเผชิญกับการขาดดุลอุปทานที่เลวร้ายที่สุดในรอบทศวรรษ เช่นเดียวกับเกษตรกรชาวแอฟริกาที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับสภาพอากาศอันเลวร้าย

โกโก้ฟิวเจอร์มีราคาส่งมอบในเดือนพฤษภาคม 2024 พุ่งสูงถึง 10,080 ดอลลาร์สหรัฐฯ/เมตริกตัน ก่อนลดลง 0.3% มาอยู่ที่ 9,622 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในวันที่ 26 มีนาคม 2567 โดยราคาโกโก้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 129% ในปี 2024

Michele Buck ซีอีโอ Hershey กล่าวว่าเมื่อเดือนที่ผ่านมาบริษัทต้องใช้กลยุทธ์เพื่อป้องกันความผันผวนของราคา สอดคล้องกับสมาคมลูกกวาดแห่งชาติ เผยว่าอุตสาหกรรมกำลังทำงานร่วมกับผู้ค้าปลีกเพื่อ “จัดการต้นทุน” และราคาช็อกโกแลตไม่แพงเกินไปสำหรับผู้บริโภค

ด้าน Paul Joules นักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์ที่ Rabobank กล่าวว่าบริษัทช็อกโกแลตรายใหญ่จะมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงเป็นอย่างดีเมื่อปีที่ผ่านมา และไม่จำเป็นต้องตั้งราคาสูงกับผู้บริโภค ซึ่งเป็นเรื่องเดียวที่อุตสาหกรรมจะทำได้เพื่อรักษาต้นทุนเอาไว้

อย่างไรก็ตาม สิ่งเลวร้ายยังมาไม่ถึง เมื่อโลกกำลังเผชิญกับการขาดดุลอุปทานโกโก้ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 60 ปี และผู้บริโภคจะเริ่มได้รับผลกระทบภายในสิ้นปี หรือต้นปี 2025 โดยองค์การโกโก้นานาชาติคาดการณ์ว่าการผลิตจะขาดดุล 374,000 ตัน ในฤดูกาล 2023-24 เพิ่มขึ้น 405% จากการขาดดุล 74,000 ตันในฤดูกาลที่แล้ว

“ราคาโกโก้มีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากไม่มีการแก้ไขปัญหาเชิงระบบที่ตลาดเผชิญอยู่อย่างง่ายดาย” Joules กล่าว

Joules กล่าวต่อว่าผู้บริโภคอาจเผชิญกับราคาที่สูงขึ้น หรือ “ภาวะเงินเฟ้อหดตัว” ในรูปแบบของช็อกโกแลตแท่งขนาดเล็ก บริษัทอาจปรับส่วนผสมโดยใช้โกโก้น้อยลงในผลิตภัณฑ์บางอย่าง

ด้าน David Branch ผู้จัดการภาคสถาบันอาหารเกษตรที่ Wells Fargo กล่าวว่าผู้บริโภคจะเห็นราคาที่สูงขึ้นในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากราโกโก้ และต้นทุนการผลิตอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา ทำให้มีแนวโน้มว่าผู้บริโภคจะเห็นราคาขนมช็อกโกแลตพุ่งสูงขึ้นในเทศกาลอีสเตอร์นี่

อีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาโกโก้ คือประเทศผู้ผลิตหลักอย่างไอวอรีโคสต์ และกานา โดยทั้งสองประเทศคิดเป็นราว 60% ของการผลิตโกโก้ทั่วโลก เผชิญกับสภาพอากาศที่ฝนตกหนัก จนเกิดโรครุนแรงขึ้น และปรากฏการณ์เอลนีโญยังทำให้สภาพอากาศแห้งมากขึ้น ส่งผลต่อผลผลิตโกโก้ที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน

ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เกษตรกรในไอวอรี่โคสต์เลิกผลิตโกโก้ และหันมาปลูกพืชที่ให้ผลกำไรมาขึ้น เช่น ยางพารา

ที่มา: cnbc