วราภรณ์ ซาลาเปา จากอาหารที่ทำกินเองในครอบครัวสู่ธุรกิจรายได้พันล้าน


“อิ่มง่าย…ง่าย อร่อยนุ่ม..นุ่ม นี่คือข้อความที่บ่งบอกความเป็นวราภรณ์ ซาลาเปา ได้เป็นอย่างดี จากเมนูอาหารที่ทำไว้กินกับคนในครอบครัวนำมาสู่ธุรกิจอาหารที่สร้างรายได้หลายพันล้าน

จุดเริ่มต้นของแบรนด์มาจากคุณแม่วราภรณ์ สุธัญญา ที่สังเกตเห็นว่าลูก ๆ มีความชื่นชอบรับประทานซาลาเปาเป็นอย่างมาก และดูเป็นการสิ้นเปลืองเงินหากต้องซื้อมาบ่อย ๆ ดังนั้นจึงตัดสินใจคิดค้นสูตรทำขึ้นมาเองเลย และนำไปให้เพื่อนบ้านได้ชิม แต่ปรากฏว่าคนที่รับประทานซาลาเปาไปบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “อร่อย”

หลังจากนั้น คุณแม่วราภรณ์จึงตัดสินใจทำซาลาเปามาวางขายมาตั้งขายหน้าห้องแถวที่พักอาศัยอยู่ย่านนางเลิ้ง เป็นธุรกิจเล็ก ๆ ในปี 2535 โดยชูจุดเด่นในเรื่องของไส้ที่มีคุณภาพจากวัตถุดิบอย่างดี และให้ในปริมาณที่เยอะ แถมแป้งบาง รวมถึงรสชาติที่ถูกปากลูกค้า จึงทำให้เกิดการบอกต่อจนเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีคนดังที่เขียนรีวิวให้อีก จึงทำให้เป็นแบรนด์ซาลาเปาที่โด่งดังขึ้นมาที่ใครต่อใครต้องซื้อมาชิม

เรียกได้ว่าวราภรณ์ ซาลาเปา เป็นธุรกิจครอบครัว โดยปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริการของคุณภูมิ สุธัญญา ลูกชายคนโต ที่เข้ามาสานต่อ พร้อมใช้กลยุทธ์ทำให้แบรนด์มีความมั่นคง ยั่งยืนมากขึ้นด้วยการขยายสาขาเพื่อให้เข้าถึงลูกค้ามากยิ่งขึ้น วางตำแหน่งเป็นอาหารที่ทานสะดวก ทานง่าย โดยซาลาเปาแต่ละลูกนั้นจะมีครัวกลางที่เป็นฝ่ายลงมือทำ และส่งไปตามสาขาต่าง ๆ แน่นอนว่าทำให้แบรนด์สามารถควบคุมมาตรฐานของสินค้าได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันวราภรณ์ ซาลาเปา มีสาขากว่า100 สาขา ทั้งร้านที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า, สถานีบริการน้ำมัน, ร้านแบบเดี่ยว (Stand Alone) ตลอดจนมหาวิทยาลัย

ผลประกอบการบริษัท วราภรณ์ สมพงษ์ ฟู้ดส์ จำกัด

– ปี 2563 รายได้รวม 1,143 ล้านบาท กำไร 114 ล้านบาท
– ปี 2564 รายได้รวม 1,084 ล้านบาท กำไร 107 ล้านบาท
– ปี 2565 รายได้รวม 1,052 ล้านบาท กำไร 147 ล้านบาท

การทำธุรกิจอาหารหากขายแต่เมนูเดิม ๆ ลูกค้าอาจมีความเบื่อได้ ดังนั้น วราภรณ์จึงไม่ได้มีแค่ ซาลาเปาเท่านั้น แต่ยังมีเมนูอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น ติ่มซำ, อาหารจานเดียว เช่น ข้าวหมูแดง ข้าวไก่อบ ข้าวขาหมู หมูแดง น่องไก่อบ, เครื่องดื่ม เช่น กาแฟ ชาอูหลง ชาดำเย็น ชาเขียวเก็กฮวยวุ้นใบเตย น้ำอัญชันเม็ดแมงลัก รวมถึงพัฒนาบริการใหม่ ๆ ให้เป็นไปตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป