เปิดธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ หากเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เริ่มใช้งาน


ผลสำรวจบอกผู้มีสิทธิ์ใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต จะเลือกใช้จ่ายร้านค้าท้องถิ่น 40% รองลงมาเป็นร้านสะดวกซื้อ เช่น CJ, 7-Eleven 26%

หนึ่งนโยบายสำคัญรัฐบาล นั่นคือโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่มุ่งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจทั่วประเทศ โดยกำหนดเงื่อนไขเป็นผู้มีสิทธิ์ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 70,000 บาท คาดการณ์มีประมาณ 50 ล้านคน ซึ่งจะได้รับเงินดิจิทัล ใช้จ่ายผ่านแอปฯ นำไปซื้อสินค้า ในไตรมาสที่ 4/2567

ด้วยความที่เป็นนโยบายที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แน่นอนว่าหลายคนอยากรู้พฤติกรรมการใช้เงินของผู้ได้รับสิทธิ์ว่าเป็นอย่างไร โดย SCB EIC ได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคที่คาดว่าจะได้รับสิทธิดิจิทัลวอลเล็ต (ตามรายละเอียดของโครงการในช่วงครึ่งหลังของปี 2566) ระหว่าง 12 พ.ย.-12 ธ.ค.2566) ซึ่งแบ่งประเด็นที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

1.ผู้ตอบแบบสอบถามราว 58% จะทยอยใช้เงิน 10,000 บาท ให้ครบภายใน 6 เดือน แต่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย (ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน) หรือกลุ่มผ้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะทยอยใช้จ่ายไปจนถึงวันสิ้นสุดโครงการเดือน เม.ย. 2570 ทั้งนี้ทั้งนั้น รัฐบาลยังไม่ได้ระบุระยะเวลาการใช้จ่ายเงินของโครงการ

2.กว่า 80% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่าจะลดค่าใช้จ่ายของตัวเองลง หากได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท และผู้มีสิทธิ์บางส่วนจะนำเงินที่ลดลงดังกล่าวกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านการใช้จ่าย และนำไปลงทุนธุรกิจต่อ

นอกจากนี้ ผู้มีสิทธิส่วนใหญ่จะลดการใช้จ่ายเงินส่วนตัวลง และนำเงินที่ลดไปเก็บออม/ชำระคืนเงินกู้ คิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของผู้มีสิทธิที่ลดการใช้จ่ายเงินส่วนตัว)

3.สินค้า Grocery (ร้านขายของชำ) เป็นสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากโครงการมากที่สุด เกือบ 40% รองลงมาเป็นสินค้าหมวดสุขภาพ และร้านอาหาร ขณะที่กลุ่ม Gen Z มีแนวโน้มที่จะนำไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ส่วนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และผู้สูงอายุ มีแนวโน้มนำเงินบางส่วนไปซื้อสินค้าเพื่อแต่ง/ซ่อมแซมบ้าน

4.ร้านค้าท้องถิ่น และร้านสะดวกซื้อเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ โดยผู้ตอบแบบสอบถามราว 40% เลือกใช้จ่ายผ่านร้านค้าท้องถิ่น และราว 26% เลือกซื้อสินค้าตามร้านสะดวกซื้อ เช่น CJ และ 7-Eleven ขณะที่กลุ่มร้านอาหารและร้านขายยาเป็นกลุ่มรองที่ได้รับอานิสงส์ เช่นเดียวกับ ร้านอุปกรณ์ยานยนต์และร้านอุปกรณ์การเกษตรคาดว่าจะได้รับอานิสงส์อยู่บ้าง

5.ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าการกำหนดพื้นที่ใช้จ่ายเงินเป็นข้อจำกัดต่อการใช้เงิน โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงาน/อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จังหวัดหัวเมืองใหญ่ รวมถึงกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการ ซึ่งราว 70% ของกลุ่มเหล่านั้น มองว่าการกำหนดพื้นที่ใช้จ่ายเป็นอุปสรรค โดยปัจจัยหลักมาจากไม่มีร้านค้าที่เหมาะสมตรงตามความต้องการในพื้นที่ที่กำหนด

ที่มา: scbeic
https://www.scbeic.com/th/detail/product/digital-wallet-230424