‘ประดู่เงิน กองทัพเรือ’ คว้าชัยศึกแห่งสายน้ำ ครองแชมป์ถ้วยพระราชทานฯ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขัน


‘ประดู่เงิน กองทัพเรือ’ คว้าชัยศึกแห่งสายน้ำ ครองแชมป์ถ้วยพระราชทานฯ รายการเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ที่มี ม.ธรรมศาสตร์ เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขัน

 

 

การแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และโอกาสการครบรอบ 90 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) 27 มิถุนายน 2567 ในรอบสุดท้าย เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 27 เม.ย. 2567 เป็นไปอย่างคึกคักและลุ้นระทึก

 

 

เมื่อ “ประดู่เงิน กองทัพเรือ” ในร่องน้ำน้ำเงิน เข้าชิงชัยกับ “หงส์ทองคนสวยเมืองเพชร” ที่อยู่ในร่องน้ำแดง บนเส้นทางแห่งประวัติศาสตร์แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทันทีที่คณะกรรมการให้สัญญาณปล่อยเรือ ฝีพายทั้ง 60 ชีวิต แบ่งออกเป็นลำละ 30 ฝีพาย ต่างลงแรงกันอย่างสุดกำลัง ท่ามกลางเสียงเชียร์ดังกึกก้องและเสียงพากย์สุดมันจากนักพากย์มืออาชีพผู้คร่ำหวอดในวงการเรือยาวมาอย่างยาวนาน

 

 

ที่สุดแล้ว เมื่อลำเรือเคลื่อนผ่านสายน้ำเป็นระยะทาง 200 เมตร เสียงประกาศ “เข้าเส้นชัย” ก็ดังขึ้น อันเป็นเครื่องตัดสินว่าได้ผู้ชนะเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งกรรมการได้ยกธงให้ “ประดู่เงิน กองทัพเรือ” ในร่องน้ำน้ำเงินเป็นผู้คว้าชัย ด้วยสถิติ 00.45.30 ขณะที่ “หงส์ทองคนสวยเมืองเพชร” ตามเข้ามาติดๆ ด้วยเวลา 00.51.70

สำหรับการแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ยังมีอีก 2 ประเภท โดยมีผลการแข่งขันดังนี้

1. ประเภทเรือยาวมังกร 10 ฝีพาย หญิง ระดับอุดมศึกษา รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติเชียงใหม่, รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

2. ประเภทเรือยาวมังกร 10 ฝีพาย ชาย ระดับอุดมศึกษา รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติลำปาง, รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติเชียงใหม่ และรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

ในส่วนของ ประเภทเรือยาวประเพณี 30 ฝีพาย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ประดู่เงิน กองทัพเรือ, รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ หงส์ทองคนสวยเมืองเพชร, รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ เทพวชิรวิทย์ x อภิชาต ฟาร์ม, รองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ สิงห์ลำนัง-เรืองแสง

 

 

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธานเปิดกิจกรรม “การแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และโอกาสการครบรอบ 90 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) 27 มิถุนายน 2567” ซึ่งจัดขึ้นบริเวณสะพานพระราม 8 กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2567 กล่าวเปิดการแข่งขันตอนหนึ่งว่า การจัดการแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นอกจากจะได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อปวงชนชาวไทยแล้ว ยังเป็นการร่วมฟื้นฟูประเพณีการแข่งขันเรือยาวที่สร้างความสุขความสนุกสนาน และความสามัคคีของเหล่าฝีพายซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดี

 

 

รศ.โรจน์ คุณอเนก รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มธ. ในฐานะประธานจัดการแข่งขัน กล่าวว่า การแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และในโอกาสครบรอบ 90 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีการจัดการแข่งขันเรือยาว 3 ประเภท ได้แก่ การแข่งขันเรือยาวมังกร 10 ฝีพาย ทีมชายระดับอุดมศึกษา มีทีมส่งเข้าแข่งขันจำนวน 7 ทีม การแข่งขันเรือยาวมังกร 10 ฝีพาย ทีมหญิงระดับอุดมศึกษา จำนวน 6 ทีม และการแข่งขันเรือยาวประเพณี 30 ฝีพาย ระดับประชาชนทั่วไป จำนวน 8 ทีม

 

รศ.โรจน์ กล่าวต่อว่า การแข่งขันดังกล่าว ได้รับความอนุเคราะห์จากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการอำนวยความสะดวกด้านพื้นที่และสาธารณูปโภค กรมเจ้าท่าในการให้ความอนุเคราะห์การควบคุมดูแลสนามแข่งขัน อีกทั้งสมาคมเรือพายแห่งประเทศไทยที่ให้ความอนุเคราะห์กฎ กติกา และคณะกรรมการการแข่งขัน พร้อมกันนี้ยังมีภาคเอกชน อาทิ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัทไทยดริ้งค์ จำกัด ที่ให้การสนับสนุนหลักในการจัดการแข่งขันด้วย