ขณะนี้เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสำคัญของ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หนึ่งในโรงพยาบาลรัฐที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย จากการเข้ามาของคณะผู้บริหารทีมใหม่ นำโดย รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มธ. ในฐานะ ‘ผู้อำนวยการโรงพยาบาล’
สำหรับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ สร้างขึ้นครั้งแรกในระดับทุติยภูมิ แต่ด้วยการพัฒนา ที่รุดหน้าอย่างก้าวกระโดด ในระยะเวลาไม่ถึง 40 ปี โรงพยาบาลแห่งนี้ได้ก้าวขึ้นสู่การเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิขั้นแถวหน้าของประเทศไทย มีคุณภาพมาตรฐาน และศักยภาพการให้บริการทัดเทียมกับโรงพยาบาลในระดับสากล ถือเป็นอีกกำลังหนุนสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไปจนถึงในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการให้บริการประชาชน ทั้งด้านการนำเข้าเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงขยายพื้นที่ในเชิงกายภาพกว่า 1 แสนตารางเมตร เกิดอาคารใหม่ มากกว่า 5 อาคาร เช่น อาคารศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์, อาคารศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์, อาคาร 88 ปี มธ., อาคาร 90 ปี มธ., อาคารชวนชูชาติ วพน.7 ฯลฯ ซึ่งเป็นอาคารสำหรับผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน (IPD) รวมถึงศูนย์นวัตกรรมสุขภาพธรรมศาสตร์ ฯลฯ
อย่างไรก็ดี หากนับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2567 ซึ่งเป็นวันที่ ‘รศ.นพ.ดิลก’ เข้ามาดำรงตำแหน่งในฐานะผู้นำหมายเลข 1 ของโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการ จนถึงขณะนี้ อาจเป็นเวลาสั้นๆ เพียง 2 เดือนเศษ หากแต่ รศ.นพ.ดิลก มีแผนยกระดับให้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ติดปีกให้กลายเป็น ‘ศูนย์กลางทางการแพทย์ของประเทศ’ ที่สำคัญก็คือ ต้องเป็นโรงพยาบาลที่จะสร้างความสุขให้ทั้ง ‘ผู้รับบริการ’ และ ‘ผู้ให้บริการ’
รศ.นพ.ดิลก อธิบายถึงแผนพัฒนาดังกล่าวว่าจะแบ่งเป็น 4 ส่วนหลักๆ ประกอบด้วย 1. การให้บริการดูแลรักษา 2. การสนับสนุนด้านการวิจัยและนวัตกรรม 3. การสนับสนุนการเรียนการสอนของคณะใน มธ. และ 4. การพัฒนาองค์กร
เมื่อเจาะลึกลงรายละเอียด ในส่วนที่ 1 การให้บริการดูแลรักษา และ ส่วนที่ 2 การสนับสนุนด้านการวิจัยและนวัตกรรม จะมีความเกี่ยวโยงกัน เพราะจะมีการนำเทคโนโลยีด้านการแพทย์เข้ามาใช้มากขึ้น และเน้นไปที่โรคหายากที่มีความซับซ้อน ตัวอย่างเช่น การนำเข้าเครื่องฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตรอนเพื่อรักษามะเร็งที่มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดอัจฉริยะ da Vinci การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในทางการแพทย์ อย่างการแปลผลเอ็กซเรย์ และ CT-Scan การปลูกถ่ายอวัยวะ
รวมถึงพัฒนาศูนย์พันธุศาสตร์ทางการแพทย์ ที่เพิ่งตั้งเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางด้านการแพทย์จีโนมิกส์โดยเฉพาะ ซึ่งอาจก้าวเป็นหน่วยหนึ่งในระดับประเทศ โดยจะให้บริการตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย การวางแผนดูแลรักษาที่แม่นยำเฉพาะเจาะจง (Precision Medicine) บริการด้านนิติพันธุศาสตร์ ไปจนถึงการพยากรณ์ก่อนการเกิดโรค ครอบคลุมโรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อย (โรคหายาก) โรคมะเร็ง และเภสัชพันธุศาสตร์
“เราได้สั่งเครื่อง Sequencing (เครื่องถอดรหัสพันธุกรรม) ซึ่งราคาประมาณ 15 – 30 ล้านบาท มาไว้เองเลย เพราะเราต้องการเป็น Center และเพื่อใช้สำหรับสนับสนุนด้านการวิจัยด้วย เพราะเดิมผมเป็นคณบดีคณะแพทย์ฯ มธ. ซึ่งก็เห็นว่าภายในคณะมีห้องแล็บเยอะมาก แต่เป็นการทำแต่วิจัยข้างใน ตอนนี้ก็กำลังจะคุยกันว่าให้มีการใช้เครื่องมือร่วมกันด้วยเพื่อให้เกิดประโยชน์กว้างขึ้น เพราะทำแค่ข้างในไม่พอแต่ต้องนำมาใช้ตอบโจทย์ประเทศด้วย
“จีโนมิกส์เป็นอีกหนึ่งทิศทางทางการแพทย์ในอนาคตที่หลายประเทศชั้นนำทั่วโลกเห็นร่วมกัน เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และไทยเราก็มีการเริ่มไปแล้วเช่นกันคือ โครงการจีโนมิกส์ไทยแลนด์ แต่บริการที่เกิดขึ้นยังจำกัด และไม่ค่อยแพร่หลาย ซึ่งผมคิดว่าโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ มีศักยภาพ ทรัพยากรด้านอุปกรณ์ และบุคลากรค่อนข้างพร้อมที่จะเข้าไปร่วมช่วยให้มันขยับเดินหน้าได้” รศ.นพ.ดิลก กล่าวเสริม
ที่สำคัญ รศ.นพ.ดิลก บอกว่าเขายังมีความตั้งใจที่จะกระจายบริการสุขภาพขั้นสูงเหล่านี้ให้ประชาชนที่มีความจำเป็นแต่ไม่สามารถจ่ายค่ารักษาดังกล่าวไหว ให้สามารถเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยทางโรงพยาบาลจะมีการหาวิธีบริหารจัดการงบประมาณ หรือหาการสนับสนุนแหล่งเงินจากส่วนต่างๆ เพื่อมารองรับส่วนนี้ เช่น การเปิด Premium Clinic ภายใต้ศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์
“แน่นอนว่าการเพิ่มเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาจะทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เราต้องลงทุนค่อนข้างมาก อีกทั้งการจะให้บริการคนที่มีความจำเป็นได้ โดยไม่เก็บความค่าใช้จ่าย ก็จะเป็นการแบกภาระค่าบริการนั้น แต่ทั้งหมดมันก็เป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลและผู้บริหารที่จะไปหาเงินมาเพื่อทำให้เดินต่อไปได้ เพราะคนไข้บางคนเขาไม่มีกำลังจริงๆ อย่างเปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยใส่สายสวนครั้งนึงเป็นหลักล้านบาท แล้วสิทธิการรักษาก็เบิกไม่ได้ ถ้าเราไม่ให้การรักษา ก็เท่ากับมีเทคโนโลยีในการรักษาที่ดี แต่คนเข้าไม่ถึง และตัดหนทางในการรักษาของเขา
“หลายคนเห็นแบบนี้อาจจะบอกว่าลงทุนเยอะ รายได้น้อย ไม่ทำดีกว่า แต่ผมคิดว่าเราเกลี่ย และหาทางได้ บางอย่างถ้าสร้างประโยชน์กับสังคม ถึงสร้างรายได้ให้โรงพยาบาลไม่เยอะ แต่คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้นมาก และเราพอเป็นที่พึ่งให้กับเขาได้ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ เราอยากให้คนทุกคน ทุกระดับ เข้าถึงบริการพรีเมียมได้” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ระบุ
สำหรับส่วนที่ 3 การสนับสนุนการเรียนการสอนของแต่ละคณะในกลุ่มศูนย์สุขศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสหเวชศาสตร์ โดยจะมีการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ทักษะที่นอกเหนือจากหลักสูตร ให้นักศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้การให้บริการด้านสาธารณสุขบางอย่างที่อาจจะไม่มีโอกาสได้ทำหรือได้เรียนในห้องเรียน เช่น โรงพยาบาลสนาม การตั้งศูนย์การแพทย์ การบริหารจัดการในโรงพยาบาล ฯลฯ
สุดท้าย ส่วนที่ 4 คือการพัฒนาองค์กร แน่นอนว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมถึงที่เกิดขึ้นแล้วจากการยกระดับโรงพยาบาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ย่อมส่งผลกระทบต่อภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ไม่มากก็น้อย ดังนั้นจะมีการดูแลบุคลากรภายในโรงพยาบาลให้มากขึ้น เพื่อสร้างสมดุลทางการพัฒนาให้กับโรงพยาบาล
รศ.นพ.ดิลก กล่าวว่า จะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดภาระงานของบุคลากรให้มากขึ้น รวมถึงจัดระบบดูแลสภาพจิตใจของบุคลากรอย่างสม่ำเสมอโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช และหาแนวทางปรับค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับงานที่คนนั้นๆ ทำจริงๆ เพื่อให้เกิดการคงอยู่ในระบบ ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลมีบุคลากรเพียงพอรองรับภาระงานที่เกิดขึ้น
“ถ้าเราแก้ปัญหาเรื่องบุคลากรนี้โดยตีความง่ายๆ ว่างานหนัก ค่าตอบแทนน้อย และเอาไปเทียบกับที่อื่น ทางแก้ที่ได้ก็จะหมุนเวียนอยู่ในวัฎจักรที่แก้อะไรไม่ค่อยได้ เพราะฉะนั้นเราจึงเอาศาสตร์ต่างๆ มาช่วยให้มากขึ้น
“เราเชื่อว่าประชาชนจะได้รับบริการที่ดีมีคุณภาพได้ ไม่ใช่แค่การเพิ่มแต่เทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ต้องดูแลคนทำงานให้ดีด้วย” รศ.นพ.ดิลก กล่าว
รศ.นพ.ดิลก บอกอีกว่า นอกจากการขยับเดินหน้าพัฒนาอย่างเต็มกำลังแล้ว งานด้านบริการสังคมก็จะเป็นไปในเชิงรุกด้วยเช่นกัน โดยเตรียมจะยกระดับการออกหน่วยไปร่วมกับการจัดกิจกรรมภายนอกมากขึ้น อย่างในช่วงที่ผ่านมาก็มีการประสานกับศูนย์การค้าเอกชน ในการร่วมกิจกรรม Happy Society โดยเป็นการออกหน่วยให้บริการตรวจสุขภาพ และให้ความรู้ด้านสุขภาพกับผู้สูงอายุภายในงานทุกวันพฤหัสบดีของทุกสัปดาห์ ซึ่งต่อไปอาจทำให้มีความเฉพาะเจาะจงกับโรคมากขึ้น เช่น โรคหัวใจ โรคข้อเสื่อม
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ไม่ว่าจะการพัฒนา หรือการจะแก้ไขปัญหาต่างๆ รศ.นพ.ดิลก ยืนยันว่าไม่ใช่สิ่งที่มาจากการวาดภาพบนอากาศ หรือจินตนาการเอาตามความรู้สึก แต่ยึดเอาจากข้อเท็จจริง และข้อมูลเชิงประจักษ์เป็นฐาน ทั้งในเชิงสถิติ และการตรวจสอบให้มั่นใจด้วยการลงไปสัมผัสและสังเกตจากสถานการณ์จริงด้วยตนเอง ดังนั้นแม้จะดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ยาก ทว่า ทุกสิ่งสามารถเกิดขึ้นจริงได้
“วันไหนที่ผมพอจะมีเวลาก็จะแบ่งเวลาลงไปตามหน่วยต่างๆ ของโรงพยาบาล เพื่อดูการทำงานของบุคลากร อาคารสถานที่ รวมถึงสังเกตการเข้ามารับบริการของประชาชน เพื่อดูว่ามีตรงไหนที่ต้องพัฒนาต่อ หรือตรงไหนที่หน่วยต่างๆ ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งผมคิดว่าข้อมูลที่ถูกต้องสำคัญมาก เพราะบางเรื่องเรานั่งอยู่ในห้องหรือดูรายงานอย่างเดียวไม่รู้ แก้ไขหรือพัฒนาอะไรไปก็จะไม่ตรงจุด” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ กล่าว