ความลักลั่นคดีความ ‘คนรวย-คนจน’ เสียงเร่งเร้าภายใน สู่รั้ว ‘ธรรมศาสตร์’ ของนักศึกษารางวัลเรียนดี ‘สัญญาธรรมศักดิ์’


88.86 จากคะแนนเต็ม 100 ทำให้ ธีรโชติ ป้องกันภัย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นผู้ได้รับ ‘รางวัลเรียนดี’ เนื่องในวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2567 โดยมี ศ.พิเศษ อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ องคมนตรี เดินทางมามอบรางวัลด้วยตัวเอง

 

 

สำหรับ ‘ธีรโชติ’ แล้ว เขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาในยุคที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ทั้งมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งในมุมมองของ ‘ธีรโชติ’ มาตรวัดความยุติธรรมของประเทศนี้ ยังมีความสั่นคลอน ในสมัยที่ ‘ธีรโชติ’ เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เขาตั้งคำถามตัวโตต่อปรากฏการณ์ที่เขาเรียกว่าความไม่เท่าเทียมกันระหว่าง ‘คนรวย’ กับ ‘คนจน’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดคดีความหรือมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม

ดูเหมือนว่า ‘คนรวย’ จะจัดการทุกอย่างได้อย่างง่ายดาย ส่วนใหญ่มักรอดพ้นหรือได้รับผลกรรมไม่สาสมกับฐานความผิด ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับวิบากที่เกิดขึ้นกับ ‘คนจน’ ที่ในหลายกรณี โทษทัณฑ์รุนแรงจนถึงขั้นสั่นสะเทือนความรู้สึกด้านในของผู้สังเกตการณ์ภายนอก

“ผมเกิดคำถามว่าทำไมคนรวยในประเทศนี้ถึงไม่ต้องติดคุก ในขณะที่คนจนกลับถูกปฏิบัติอีกแบบ ซึ่งเกิดคำถามแบบนี้ในช่วงที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย ผมคิดว่าไม่อยากอยู่ในสังคมที่เกิดกรณีแบบนี้บ่อยๆ”

นั่นคือเหตุผลที่มีน้ำหนักต่อการตัดสินใจ และนำพาให้ ‘ธีรโชติ’ เลือกที่จะศึกษาต่อในคณะนิติศาสตร์ และต้องเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เท่านั้น

 

 

สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในมุมมองของ ‘ธีรโชติ’ เขามั่นใจว่า ในฐานะมหาวิทยาลัยแห่งแรกๆ ที่เปิดสอนวิชากฎหมาย เป็นสถาบันแถวหน้าที่มีชื่อเสียง คณาจารย์ที่มาสอนก็เป็นบุคคลในกระบวนการยุติธรรมจริงๆ เป็นคณะกรรมการร่างกฎหมาย เป็นศาสตราจารย์ เป็นครูทางด้านกฎหมายในสาขาวิชานั้นๆ โดยเฉพาะ

ดังนั้นการได้เข้ามาเรียนกับอาจารย์ที่เก่งและเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในระดับประเทศ จึงมีส่วนยกระดับการเรียนรู้ของผู้เรียนได้เก่งไปมากขึ้น อีกทั้งบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างทางความคิด มีความตื่นตัวทางการเมือง ก็ยังช่วยหนุนเสริมความรู้สึก ‘อิน’ ไปกับการศึกษาวิชากฎหมาย ที่พร้อมจะไปเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมด้วย

ธีรโชติ บอกว่า กฎหมายคือสิ่งที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม ซึ่งบางเรื่องก็กำลังถูกพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น แต่บางเรื่องก็ยังคงเป็นต้นตอของปัญหาที่จะตามมาอีกมากมาย เช่น รัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่เกิดขึ้นในยุคคณะรัฐประหาร และนำไปสู่กลไกต่างๆ ที่ถูกตั้งคำถาม เช่น การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ความชอบธรรมในการทำงานขององค์กรอิสระต่างๆ

อย่างไรก็ตามปัญหาใหญ่ที่สุดของกระบวนการยุติธรรม ยังคงเป็นเรื่อง ‘การเลือกปฏิบัติ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง ตัวอย่างเช่นกรณีของ ‘นักโทษวีไอพี’ ในขณะนี้ ที่ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่สามารถตอบคำถามกับสังคมได้ว่าเหตุใดจึงมีบุคคลที่ได้สิทธิพิเศษเช่นนั้น

“หากเราไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ ก็จะไม่มีใครเชื่อมั่นในกฎหมายอีกต่อไป เมื่อคนศรัทธาในกฎหมายน้อยลง คนก็อาจไปเชื่อกฎหมู่ หรืออาจไปเชื่อศาลเตี้ย หากคิดว่าทำผิดกฎหมายแล้วช่างมัน เรามีเงินก็ไม่ต้องติดคุก แบบนี้สังคมก็คงเดินหน้าต่อไปไม่ได้”

‘ธีรโชติ’ จึงตั้งเป้าหมายไว้หลังสำเร็จการศึกษาจากรั้วธรรมศาสตร์ว่า จะนำความรู้ที่ได้รับไปช่วยทำให้สังคมดีขึ้นผ่านกลไกกระบวนการยุติธรรม อาจเริ่มต้นในบทบาทของทนายความ เดินหน้าว่าความ เก็บคดี ไปจนสู่จุดหมายสูงสุดที่เขามุ่งหวังคือการนั่งเป็น ‘ผู้พิพากษา’ เพื่อพิจารณาตัดสิน

“หากวันหนึ่งเรามีอำนาจหน้าที่ พร้อมกับมีอุดมการณ์ มีองค์ความรู้ มีจิตใจที่พร้อมให้ความยุติธรรม เชื่อว่าการตัดสินของเราจะสามารถทำให้คนที่เข้ามา ยอมรับในกระบวนการยุติธรรม ทำให้เขาเชื่อว่าเมื่อเรื่องเดินทางมาถึงคำตัดสินของศาลแล้ว ทุกอย่างเป็นที่ยุติ ผมคิดว่านี่คือจุดสูงสุดของการเป็นนักกฎหมาย”

 

 

เมื่อย้อนกลับมาในปัจจุบัน การใช้ชีวิตในฐานะนักศึกษาวิชากฎหมาย ‘ธีรโชติ’ เล่าว่า ธรรมชาติของการเรียนคณะนิติศาสตร์ วิชาส่วนใหญ่จะไม่มีการเช็คชื่อหรือส่งงาน แต่จะไปวัดผลที่คะแนนสอบเพียงอย่างเดียว นั่นทำให้ ‘เด็กนิติฯ’ มักใช้เวลาไปกับการเตรียมตัวอ่านหนังสือเป็นหลัก แต่พื้นฐานขั้นแรกคือการเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอ เพราะการสอนในห้องเรียนนั้นมีส่วนช่วยให้จดจำได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันเนื้อหาที่อาจารย์เตรียมมาสอน ก็มักจะคัดมาแล้วในประเด็นที่มุ่งเน้นเป็นหลัก ช่วยให้นักศึกษาสามารถเตรียมตัวสอบได้อย่างตรงเป้ามากขึ้น

นอกจากนั้น การเรียนในห้องยังช่วยให้นักศึกษาสามารถสอบถามกับอาจารย์ได้โดยตรง ในประเด็นใดที่ยังไม่เข้าใจ เพราะบางครั้งเนื้อหาของกฎหมายเพียงบรรทัดเดียวอาจ ‘ตีความ’ ได้หลายอย่าง ซึ่งหากปล่อยให้ไม่เข้าใจ ก็อาจหมายถึงคะแนนสอบที่จะสูญเสียไปได้

กรณีหากชอบที่จะค้นคว้าหาข้อมูลเอง ห้องสมุดของ มธ. ก็นับว่ามีความเพียบพร้อมไปด้วยหนังสือวิชากฎหมาย ทั้งของอาจารย์และปูชนียบุคคลทางนิติศาสตร์มากหน้าหลายตา หรือการหาอ่านคำพิพากษาของศาลเพื่อศึกษาแนวทางการปรับใช้กฎหมาย ก็มีให้ค้นคว้าได้อย่างครบครัน ขณะที่การเข้าร่วมกิจกรรมก็มีความจำเป็น เช่น ‘มหกรรมรพีวิชาการ’ แข่งขันตอบปัญหากฎหมายต่างๆ ซึ่งโดยส่วนตัว ‘ธีรโชติ’ ชื่นชอบกิจกรรมเชิงวิชาการ

 

 

ท้ายที่สุด นักศึกษารางวัลเรียนดี เนื่องในวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2567 ย้ำว่า ถ้าเราไม่มีความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม สังคมก็เดินหน้าไปต่อไม่ได้ ซึ่งความรู้จากคณะนิติศาสตร์น่าจะมีศักยภาพทำให้ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคมมากขึ้น