เข้าใจ “กองทุนรวม” คืออะไร ต้องลงทุนแบบไหนทำให้เงินเพิ่ม


เรื่องของ “การเงิน” เรียกได้ว่าไม่มีสอนในบทเรียนของการศึกษา แต่รู้หรือไม่ว่านี่คือเรื่องสำคัญกับชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก บางคนหาเงินมาได้มากมาย แต่บริหารไม่เป็น สุดท้ายเงินไม่พอใช้ หรือถึงขั้นเป็นหนี้เป็นสินในที่สุด เพราะไม่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องของการเงินมากพอ

หนึ่งเรื่องพื้นฐานที่คนมักจะสอนกันมาคือ เมื่อทำงานมีเงินเดือน ก็ควรหมั่นเก็บออมไว้เผื่อวันข้างหน้า แน่นอนว่านี่คือการปลูกฝังที่ดี แต่หากเรามีเป้าหมายที่จะไปให้ถึงการออมอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องมีเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก นั่นคือ “กองทุนรวม” ที่เหมาะกับพนักงานเงินเดือนไปจนถึงคนทำธุรกิจ

กองทุนรวม คืออะไร

หากจะอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ของกองทุนรวม คือการนำทุน (เงิน) ของแต่ละคนมารวมกันจนได้เงินเป็นก้อนใหญ่ โดยมีผู้จัดการกองทุนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทำหน้าที่บริหาร แบ่งสรรปันสวนเงินไปลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนนั้น ซึ่งข้อดีคือผู้ซื้อกองทุนไม่ต้องมานั่งดูการลงทุนว่าจะเอาไปลงทุนอะไร เพราะมีคนดูแลผลประโยชน์ให้ผู้ซื้ออยู่แล้ว

ประเภทกองทุนรวม

เราเคยได้ยินว่าการลงทุนมีความเสี่ยง เช่นเดียวกับ “กองทุนรวม” ที่มีความเสี่ยงเหมือน โดยแบ่งออกเป็น 8 ระดับ ซึ่งผู้ที่สนใจก็ต้องศึกษาเรื่องนี้เป็นอันดับแรก

ความเสี่ยง 8 ระดับของกองทุนรวม มีดังต่อไปนี้
ระดับ 1 กองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ: เงินฝาก ตราสารหนี้ ที่มีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 3 เดือน
ระดับ 2 กองทุนรวมตลาดเงินในประเทศผสมต่างประเทศ
ระดับ 3 กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล
ระดับ 4 กองทุนรวมตราสารหนี้
ระดับ 5 กองทุนรวมผสม: หุ้นและตราสารหนี้
ระดับ 6 กองทุนรวมตราสารทุน: ลงทุนในหุ้น
ระดับ 7 กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม: ลงทุนในหุ้นที่กระจุกอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ระดับ 8 กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก: เช่น น้ำมัน ทองคำ

วิธีสมัครกองทุนรวม

หากมีบัญชีธนาคารก็สามารถไปเปิดบัญชี “กองทุนรวม” ที่สาขาได้เลย ซึ่งจะซื้อกองทุนได้แค่ของ บลจ. นั้น หรือจะไปเปิดบัญชีผ่านตัวแทนขาย ซึ่งจะซื้อได้หลายกองทุนจากหลาน บลจ. โดยเมื่อไปเปิดบัญชีทางเจ้าหน้าที่จะให้เราทำแบบทดสอบเพื่อหาคำตอบว่าจะรับความเสี่ยงได้ในระดับไหน

จะเลือกกองทุนแบบไหน

จำเอาไว้เสมอว่าจะลงทุนอะไร ต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นก่อน จะเห็นได้ว่าระดับความเสี่ยงของกองทุนมีทั้ง 8 ระดับ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือการเข้าไปอ่านหนังสือชี้ชวนของกองทุน ว่าลงทุนเกี่ยวกับอะไร มีบริษัทอะไรบ้างที่นำเงินไปลงทุน ตลอดจนดูผลตอบแทนย้อนหลังว่าเป็นอย่างไร ซึ่งสามารถเข้าไปยัง บลจ. โดยตรง หรือแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลเหล่านี้ไว้ให้แล้วอย่าง finnomena ก็ได้

นอกจากนี้ ควรวิเคราะห์ว่าธุรกิจที่อยู่ในกองทุนรวมนี้ในอนาคตอีกสัก 3-5 ปี ข้างหน้ายังสามารถไปต่อ หรือเป็นเทรนด์ที่จะฝากความหวังได้หรือไม่ บริษัทมีความมั่นคงมากน้อยเพียงใด

นำข้อมูลเหล่านี้มาตกผลึกก่อนตัดสินใจเลือกซื้อกองทุน

คนทำธุรกิจลงทุนได้หรือไม่

จะพนักงานบริษัท หรือคนทำธุรกิจ ก็สามารถลงทุนในกองทุนรวมได้ทั้งนั้น โดยอาจจะเลือกใช้วิธีแบบ DCA ที่เฉลี่ยลงทุนในทุก ๆ เดือน ในวันเดียวกัน เช่น จะซื้อกองทุนรวม จำนวน 5,000 บาท ทุกวันที่ 1 ของเดือน ซึ่งการลงทุนในลักษณะจะทยอยสะสมไปเรื่อย ๆ พร้อมรับกับผลตอบแทนแบบทบต้นทบดอก

อีกทั้ง การลงทุนใน “กองทุนรวม” ไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก เพราะบางกองทุนแค่ 500 บาท ก็ซื้อได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม การลงทุนเป็นความเสี่ยง อย่างที่รู้กันดี ดังนั้นหากเสี่ยงมากก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง แต่ก็เสี่ยงที่จะขาดทุนเช่นกัน หากเสี่ยงน้อยก็จะได้ผลตอบแทนที่น้อย ซึ่งเป็นเหรียญสองด้านที่ผู้ลงทุนควรพิจารณาให้ดี