อีกหนึ่งกระแสมาแรงในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้น Art Toy ของเล่นสะสมที่กำลังเป็นที่นิยม เกิดนักสะสมหน้าใหม่ เกิดการต่อยอดนำมาสู่ธุรกิจจากความต้องการของผู้บริโภคที่ยอมจ่ายในราคามากกว่าเพื่อให้ได้ตัวละครที่ต้องการมา เหล่านี้จึงทำให้ธุรกิจของเล่นกลับมาคึกคัก เป็นที่น่าจับตามอง
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่าจากกระแส Art Toy ของเล่นสะสมที่สร้างสรรค์งานศิลปะโดยศิลปินจากต่างประเทศ และศิลปินไทยกำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก ส่งผลให้ “ธุรกิจของเล่น” กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องจับตามอง แม้ว่าในช่วง 5 ปี ย้อนหลังที่ผ่านมา (พ.ศ.2562-2566) ธุรกิจของเล่นจะมีการเติบโตที่ผันผวน เพราะมีปัจจัยด้านการแพร่ระบาดโควิด-19 มาส่งผลกระทบเชิงลบ แต่เมื่อสถานการณ์สงบลงธุรกิจของเล่นก็ใช้เวลาไม่นานที่สามารถกลับมาพลิกฟื้นธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อลงลึกรายละเอียดของธุรกิจของเล่นในประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) ที่ครองตลาดมากที่สุด คิดเป็น 1,024 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตจำนวน 220 ราย และกลุ่มขายจำนวน 804 ราย คิดเป็น 93.7% จากธุรกิจของเล่นที่มีจำนวน 1,093 ราย โดยแบ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตจำนวน 238 ราย และกลุ่มขายจำนวน 855 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียนรวมกัน 5,692 ล้านบาท
สำหรับปี 2566 ธุรกิจของเล่นสร้างรายได้รวมถึง 19,677 ล้านบาท ทำกำไร 468 ล้านบาท โดยปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจของเล่นเติบโต และได้รับความสนใจจากผู้คน แบ่งได้ดังต่อไปนี้
– กลุ่ม Kidult เป็นการผสมคำระหว่าง Kid (เด็ก) กับ Adult (ผู้ใหญ่) เข้าด้วยกัน โดยเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่นิยมในการสะสมของเล่น และผลักดันให้ธุรกิจของเล่นเติบโต เพราะมีกำลังซื้อสูง โดยการซื้อ Art Toy ก็เหมือนกับเป็นการสนองความต้องการของตนเองในวัยเด็ก
–นักสะสมหน้าใหม่ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่อยากรู้ อยากลอง เมื่อเข้ามาในวงการแล้วกลายเป็นนักสะสมตัวยงที่หยุดไม่อยู่ ต้องมีคอลเลกชันที่ตัวเองชอบมาอยู่ในมือให้ได้
-การออกแบบคาแรคเตอร์ใหม่ ๆ ให้กับตัวละคร หรือมีการ X ระหว่างตัวละคร ที่มีความน่ารัก และน่าเก็บอยู่เสมอ ทำให้นักสะสมที่ชื่นชอบต้องคอยติดตามข่าวสาร โดยเฉพาะวันขาย, วันลงทะเบียนเข้าซื้อของร้านที่รับมาอย่าง Pop Mart ที่มีทั้งในรูปแบบจุ่ม (สุ่มเลือก) กับเหมายกกล่อง (ประมาณ 10-12 กล่อง) จึงทำให้มีการใช้จ่ายในเรื่องนี้อยู่เรื่อย ๆ และมองว่าจะมีมูลค่าในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการที่ซื้อ Art Toy มารีเซลขาย ผ่านทั้งช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ ซึ่งได้ความสนใจจากนักสะสมที่อยากจะได้ตัวละครนั้น แม้จะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นกว่าราคาทุนก็ตาม
ด้วยกระแสที่ยังคงร้อนแรงอยู่ ณ ตอนนี้ ก็เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย ทั้งในเรื่องของการสร้างสรรค์ ออกแบบ Art Toy โดยตัวละครที่ได้รับความนิยมที่มีผู้ออกแบบเป็นคนไทย คือ Crybaby ของคุณ “มด” นิสา ศรีคำดี ศิลปินที่ได้เซ็นสัญญาและออกผลงานกับ Pop Mart
เช่นเดียวกับ การรับจ้างผลิตจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น ฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น ที่เข้ามาลงทุนในไทย เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง