รู้จัก “ฉลากเขียว” เครื่องหมายช่วยสะท้อนความยั่งยืนของแบรนด์ต่อสิ่งแวดล้อม
ฉลากเขียวของประเทศไทย ริเริ่มขึ้นโดยองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development, TBCSD)
อาการหลงๆ ลืมๆ มักเกิดในผู้สูงวัย ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่อาจเป็นไปตามวัย แต่หากอาการหลงลืมหนักหนาถึงขั้นภาวะสมองเสื่อม ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมและบุคลิกภาพโดยอาจสร้างปัญหาขึ้นตามมา ดังนั้นลูกหลานหรือคนใกล้ชิดต้องหมั่นสังเกตดูแล เพื่อรู้เท่าทันภาวะสมองเสื่อม โดย รศ.พญ.วรพรรณ เสนาณรงค์ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แนะให้สังเกตอาการผิดปกติของภาวะสมองเสื่อมโดยมีอาการ ดังนี้
ความผิดปกติที่สังเกตได้ คือ
1. อาการจากความจำสิ่งใหม่ ๆ บกพร่อง ในขณะที่ความจำเรื่องเก่า ๆ ยังปกติดี ทำให้ผู้สูงอายุมีอาการถามคำถามเดิมซ้ำ ๆ ซาก ๆ
2. บกพร่องในการรับรู้ หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เช่น พูดทวนเรื่องเก่า จำเหตุการณ์ปัจจุบันหรือสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้
3. บกพร่องในการประกอบกิจกรรมที่ซับซ้อนหลายขั้นตอน เช่น เคยจ่ายกับข้าวมาประกอบอาหารได้ก็กลายเป็นซื้อส่วนประกอบขาด ๆ เกิน ๆ หรือปรุงอาหาร ใช้ส่วนประกอบแปลกๆ หรือไม่สามารถต่อโทรศัพท์หรือพูดโทรศัพท์ได้ทั้งที่เคยทำได้มาก่อน
4. บกพร่องในการตัดสินใจแก้ไขปัญหา เช่น นั่งดูน้ำล้นอ่างเฉย ๆ เพราะไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร ไม่กล้าตัดสินใจหรือตัดสินใจผิดพลาดในหน้าที่การงาน แม้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือไม่สามารถทำกิจกรรมหลายอย่างในเวลาเดียวกันได้
5. หลงทาง เช่น เดินออกจากบ้านแล้วหาทางกลับบ้านไม่ถูก
6. บกพร่องในการใช้ภาษา ได้แก่ พูดตะกุกตะกัก หรือพูดเพี้ยนไป เพราะนึกชื่อสิ่งของที่เรียกไม่ได้ เช่น เรียกเสื้อเป็นแสง
7. บกพร่องในการประกอบกิจกรรมที่เคยทำได้มาก่อน เช่น เคยเปิดโทรทัศน์ได้ ก็ไม่สามารถหาวิธีเปิดช่องที่ต้องการได้
8. มีการประกอบกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองบกพร่อง เช่น ไม่อาบน้ำ ไม่แต่งตัว ญาติต้องคอยเตือนให้ทำอยู่เสมอ กลั้นปัสสาวะหรืออุจาระไม่อยู่ ปัสสาวะราดหรือปัสสาวะในที่ที่ไม่ควร
9. พฤติกรรมแปลกๆ และมีบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง เช่น กลายเป็นคนเฉยเมย เฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้น โมโหฉุนเฉียวง่ายเมื่อใครทำอะไรให้ไม่ถูกใจ หลีกเลี่ยงการออกไปพบปะเพื่อนฝูง ทั้งที่เคยไปมาหาสู่กันเสมอ เดินไปมาอย่างไร้จุดหมาย
เมื่อผู้สูงอายุที่มีอาการสงสัยว่าจะมีภาวะสมองเสื่อม ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อหาทางรักษาหรือป้องกัน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าอาการเหล่านี้เกิดจากสาเหตุใด ซึ่งจะได้ทำการรักษาและบรรเทาอาการไม่ให้ทรุดลง