5 สัญญาณเร่งฟิตสุขภาพการเงินสร้าง SME แข็งแรง


 

เทรนด์สมัยใหม่ที่คนเราหันมารับประทานอาหาร “คลีน” หรือเข้าฟิตเนสเร่ง “ฟิตแอนด์เฟิร์ม” กันทุกวัน ก็เพื่อรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หุ่นเป๊ะ มีความสุข และมีอายุยืน สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ก็เช่นเดียวกัน ย่อมต้องหมั่นตรวจเช็คสุขภาพการเงิน หรือเสริมสภาพคล่องให้กับกิจการของตนเอง ก่อนที่ธุรกิจของตนเองจะเจ็บป่วยรุนแรงจนไม่สามารถต่อสู้กับสภาพเศรษฐกิจ และการแข่งขันที่รุนแรงได้

การบริหารจัดการทางการเงินเปรียบเสมือนหัวใจของความอยู่รอดของธุรกิจ SME ซึ่งก่อนที่ธุรกิจ SME ของคุณจะกลายเป็นคนป่วย ธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี มีคำแนะนำให้ SME หมั่นตรวจเช็คสุขภาพการเงินของธุรกิจด้วย “5 สัญญาณเร่งฟิตสุขภาพการเงิน สร้าง SME แข็งแรง”

1. รายได้มากกว่ารายจ่าย ข้อนี้หลายคนบอกว่าแน่นอนว่าขายของย่อมต้องมีกำไร แต่ในสภาวะเศรษฐกิจตึงๆ และการแข่งขันสูง คู่แข่งเล่นสงครามราคาตลอดเวลา บางครั้งเราไม่สามารถปรับเพิ่มราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนได้ หรือจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ได้ตลอด ลองเปลี่ยนมุมมองใหม่ สร้างประสิทธิภาพด้วยการลดต้นทุน หรือลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น คุณอาจเห็นตัวเลขรายได้ที่เพิ่มขึ้น เสริมสภาพคล่องให้การดำเนินธุรกิจนั้นไม่เกิดปัญหา

2. ทรัพย์สินที่มากกว่าหนี้สิน เราต้องทำความเข้าใจระหว่างคำว่า “ทรัพย์สิน” และ “หนี้สิน”
การซื้อสิ่งของที่สามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ เช่น เครื่องจักรผลิต ถือเป็นการสร้างทรัพย์สิน ผู้ประกอบการควรหักห้ามใจจากการนำรายได้ไปซื้อรถและสร้างหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ธุรกิจที่มีสภาพการเงินที่ดีคือสามารถสร้างทรัพย์สินเพิ่มขึ้นได้มากกว่าหนี้สิน

3. ปลอดหนี้ที่ไม่จำเป็น จากข้อที่แล้ว ตัวอย่างหนี้สินที่ไม่ได้ก่อเกิดรายได้ให้กับธุรกิจ เช่น การปรับปรุงออฟฟิศให้สวยงามตามเทรนด์ หรือรถยนต์หรูประจำตำแหน่งผู้บริหาร สิ่งเหล่านี้ควรเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจของคุณมีกำไร มีเงินสำรองเพียงพอ และใช้เงินดังกล่าวเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจ แต่หากต้องเป็นหนี้สินเพื่อสิ่งเหล่านี้ เมื่อธุรกิจประสบภาวะวิกฤติ หนี้ก้อนนี้จะยิ่งทำให้ธุรกิจของคุณเจ็บหนักมากกว่าเดิม

4. จัดสรรเงินให้เพียงพอ และมีเหลือเก็บออม ณ จุดนี้หากคุณมีเงินออม แสดงว่าสุขภาพการเงินของคุณแข็งแรง และคุณมีวินัยในการจัดสรรเงินให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย มีเงินออม หรือนำเงินไปลงทุนเพิ่มได้

5. สุขกายสบายใจกับเงินสำรอง การมีเงินสำรองจะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่านอกจากที่ธุรกิจมีสภาพทางการเงินที่ดีแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงภูมิต้านทานทางการเงินของธุรกิจนั้นด้วยว่าสามารถรองรับปัญหาทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมั่นใจ

หากคุณพบว่าร่างกายของคุณเริ่มมีแนวโน้มอ่อนแอ คุณควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่หากเป็นสุขภาพการเงินของ SME แล้ว คุณไม่ควรเก็บปัญหาต่างๆ เอาไว้โดยไม่มีทางออก การหันหน้าปรึกษาธนาคารพาณิชย์ที่เชื่อถือได้และมีบริการที่ดี จะเป็นเสมือน “แพทย์” ที่เยียวยาธุรกิจ SME ของคุณให้ตรงจุด วิธีการรักษาจะเป็นเพียงการรับประทานยา หรือ ผ่าตัดใหญ่ ก็ต้องพิจารณาตามอาการว่าสาหัสเพียงใด

ทาง ทีเอ็มบี มีนโยบายสนับสนุน SME เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SME ไทย ด้วยผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ตอบโจทย์โดนใจ “ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี 3 เท่าพลัส” ที่พิจารณาให้วงเงิน 3 เท่า ครอบคลุมเงินหมุนเวียนเผื่ออนาคตเพิ่มอีก 50% และมีวงเงินสำรองสินค้าอีก 30 วัน อีกทั้งขั้นตอนการสมัครที่ไม่ยุ่งยากสะดวกรวดเร็ว รับเงินเร็วใน 15 วัน ซึ่งทำให้การจัดการสุขภาพทางการเงินของผู้ประกอบการ SME เป็นเรื่องง่ายๆ ธุรกิจดำเนินอย่างคล่องตัว มั่นคง และเป็น SME สุขภาพแข็งแรง พร้อมฟิตลงสู้ในทุกสมรภูมิการค้าได้เลย…

ที่มา : smartsme.tv