จ่อให้ใบแดง!ประมงไทย เหตุแก้ไอยูยูล่าช้า ไม่ตอบโจทย์อียู


ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งย้ายนายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง เป็นผู้ตรวจราชการพิเศษสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี ว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่เป็นการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ โดยหาบุคคล ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเข้ามาทำงานเท่านั้น

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 21 เมษายน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวว่า นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงนิวยอร์ก ได้รายงานว่าประเทศไทยอาจได้รับใบแดงในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ ไอยูยู ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงาน แต่ยอมรับว่าไทยถูกตำหนิในบางเรื่องที่ทำ เพราะไม่ตรงเป้าที่อียูต้องการ แต่คิดว่าไม่เป็นไร ต้องแก้ไขปัญหาต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้ชี้แจงให้อียูรับทราบทุกเรื่องที่สงสัย ส่วนเรื่องการออกกฎหมายที่มีความล่าช้าก็ต้องไปดูว่าล่าช้าตรงไหน ส่วนการปรับย้ายอธิบดีกรมประมง เพราะว่าทำงานล่าช้า ซึ่งขณะนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็เตรียมหาคนใหม่มาแทน

ล่าสุด รายงานข่าวระบุว่า สหภาพยุโรป หรือ อียู มีแนวโน้มขยายเวลาห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากไทยต่อไป เนื่องจากไทยไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมว่า ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและแรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมงมีความรุนแรงลดน้อยลงกว่าเดิม แม้ว่าในช่วง 1 ปีมานี้ไทยจะมีการออกกฎหมายหลายฉบับก็ตาม

ขณะที่ รายงานของสำนักข่าวต่างประเทศระบุว่า สมาชิกอียู 28 ชาติยังมีความกังวลเกี่ยวกับการแก้ปัญหาประมง แม้ไทยจะยืนยันว่า มีการทำงานหนักเพื่อกำจัดปัญหาการทำประมงเถื่อนและการใช้แรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมการประมง

โดยอียูมีแนวโน้มที่จะคงมาตรการ “ใบเหลือง” ของไทย เช่นเดียวกับคิริบาส เซียร์ราลีโอน และตรินิแดดแอนด์โตเบโก แต่กลับถอนศรีลังกาออกจากกลุ่ม “ใบเหลือง” พร้อมขู่ว่าจะห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากศรีลังกาเป็นเวลา 4 ปี

อย่างไรก็ดี ในแต่ละปีไทยส่งออกอาหารทะเลไปอียูเป็นมูลค่าระหว่าง 575 ล้าน – 730 ล้านยูโร ซึ่งอียูระบุว่า ในช่วงแรกที่ประกาศคำเตือนไทย ฝ่ายไทยก็มีการรายงานความคืบหน้าในการทำงานอย่างต่อเนื่อง จากนั้นก็ลดน้อยลง แต่กลับได้รับรายงานจากกลุ่มองค์กรเอกชน และประเทศอื่นๆ มากขึ้นว่าการบังคับใช้กฎหมายลดลง อย่างไรก็ตามอียู ระบุด้วยว่าในการประชุมเดือนหน้านี้ระหว่างอียูกับผู้แทนทางการไทย ที่กรุงบรัสเซลส์ จะมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น