เงินหยวนผงาด ! สู่สกุลเงินหลักโลก


 

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนนับเป็นอีกหนึ่งประเทศยักษ์ใหญ่ที่ถูกจับตามากในวงการเศรษฐกิจทั่วโลก เพราะด้วยตัวเลขมูลค่าการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนโดยรวมแล้วเกือบ 13% ของมูลค่าการส่งออกของทั่วโลก และยังไม่รวมในส่วนของงานบริการต่าง ๆ อีกมากมาย รวมถึงจีนยังมีทุนสำรองระหว่างประเทศถึง 30% ของทั้งโลก ทำให้บัลลังก์มหาอำนาจด้านการเงินเริ่มถูกจับตา

รายงานล่าสุด Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication (SWIFT) ได้เปิดเผยข้อมูลในเดือนสิงหาคมระบุว่า เงินหยวนกำลังแซงหน้าเงินเยนขึ้นเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการชำระเงินระหว่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากเงินดอลลาร์สหรัฐ ยูโร และปอนด์สเตอร์ลิง โดยปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยหนุนให้เงินหยวนมีความสำคัญมากขึ้นและสนับสนุนความต้องการสินทรัพย์สกุลเงินหยวนเพื่อดำเนินธุรกรรมระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา

โดยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) ได้ประกาศรับรองเงินหยวนของจีนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตะกร้าเงิน Special Drawing Right (SDRs) ของ IMF โดยให้มีผลอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2559 ถือเป็นการยกระดับเงินหยวนสู่สากล ในฐานะหนึ่งในสกุลเงินหลักของโลก และเงินหยวนจะสามารถเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศร่วมกับทองคำได้เลยทีเดียว ซึ่งขณะนี้จีนได้มีการเร่งเดินหน้าพัฒนาเงินหยวนเข้าสู่ความเป็นสากล (RMB Internationalization) อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การที่เงินหยวนสามารถเป็นหนึ่งในสกุลเงินหลักของโลกได้ จะสามารถช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองของจีน ให้มีเสียงที่ดังขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า จีนจะมีบทบาทมากขึ้นทั้งในตลาดทุน ตลาดเงิน การค้าระหว่างประเทศ และการท่องเที่ยว

ส่วนผลกระทบด้านโอกาสของประเทศไทย น่าจะเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะเราจะสามารถกระจายความเสี่ยงด้านการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศได้ ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยมักได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินสกุลหลัก ไม่ว่าจะเป็นเงินดอลลาร์ หรือเงินยูโร

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรศึกษาการทำธุรกรรมทางการเงิน และความรู้เพิ่มเติม รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินหยวนและเงินบาทเอาไว้ให้ดี เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเมื่อเงินหยวนกลายเป็นอีกหนึ่งสกุลเงินโลก และมีการใช้อย่างแพร่หลายต่อไป