จ่อชงครม.อุ้มเอสเอ็มอีก๊อก2 ออมสิน-ไทยพาณิชย์พร้อมหนุนผู้ประกอบการเงิน


 

นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยในงานขับเคลื่อนเอสเอ็มอีขับเครื่องเศรษฐกิจไทย ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะนำมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ระยะที่ 2 เข้าสู่การพิจารณาอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใน 2 สัปดาห์จากนี้

ได้แก่ 1.มาตรการบูรณาการขับเคลื่อนเอสเอ็มอี งบประมาณปี 2559, 2 มาตรการปรับแผนธุรกิจเอสเอ็มอีในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และ 3.มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี และในสัปดาห์หน้าจะนำเรื่องการสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรม (คลัสเตอร์) และการกำหนดสิทธิพิเศษในเขตเศรษฐกิจพิเศษเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.

“การบูรณาการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีในปี 59 รัฐบาลจัดสรรงบไว้ 2,178 ล้านบาท ผ่าน 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอี 42,451 ราย และสร้างผู้ประกอบการรายใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมจำนวน 11,811 ราย ด้านการปรับแผนธุรกิจนั้น จะส่งนักวินิจฉัยและที่ปรึกษาธุรกิจเข้าไปช่วยวิเคราะห์สภาพปัญหาและแก้ไขปัญหาให้เอสเอ็มอี 1 หมื่นราย รวมถึงการจะเร่งพัฒนาเอสเอ็มอีตามคลัสเตอร์ที่รัฐบาลผลักดัน“ นางอรรชกากล่าว

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า คาดว่าภายใน 3 เดือนจากนี้ จะสามารถปล่อยโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วงเงิน 100,000 ล้านบาทได้ทั้งหมด สำหรับสินเชื่อดังกล่าวเป็นการปล่อยกู้ให้แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารพาณิชย์ ในอัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี เพื่อนำปล่อยกู้โดยตรงให้กับผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 4% ต่อปี ซึ่งรัฐบาลจะชดเชยค่าใช้จ่ายส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารออมสิน

คาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเงินหมุนเวียนจำนวน 60,000 ราย หรือวงเงินสินเชื่อเฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 3.3 ล้านบาท สามารถรักษาสภาพการจ้างงานได้ประมาณ 240,000 ราย หรือเฉลี่ย 4 คนต่อ 1 รายธุรกิจ ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้ประมาณ 1.94 ล้านล้าน

นายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอีกเป็นจำนวนมากประสบปัญหาในการขาดแหล่งเงินทุน ธนาคารได้เตรียมวงเงินสนับสนุนเอสเอ็มอีกว่า 40,000 ล้านบาทในไตรมาสที่ 4 เพื่ออัดฉีดเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถผ่านวิกฤติและสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ.

ที่มา : http://www.ryt9.com/