ตั้ง “โฮลดิ้ง คอมปะนี” รับมือภาษีมรดก


 

กลุ่มธุรกิจไทยไม่ว่าจะขนาดใหญ่ กลาง เล็ก มักจะเป็นธุรกิจครอบครัว ขณะที่ธุรกิจครอบครัวหลายรายต้องปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากความต้องการของทายาทที่ต้องการเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่น รวมถึงการเกิดขึ้นของพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ซึ่งทำให้ผู้มั่งคั่งต้องกังวลถึงการส่งต่อมรดกและส่งมอบกิจการในอนาคต

“จงรัก รัตนเพียร” รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจลูกค้าบรรษัท ธนาคารกสิกรไทย เล่าว่า จากความชัดเจนของ พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ที่จะมีผลบังคับใช้จริงวันที่ 1 ก.พ. 2559 ซึ่งมีส่วนสำคัญในการวางแผนธุรกิจครอบครัว และทำให้มีลูกค้ากลุ่มบรรษัทของแบงก์ตื่นตัวที่จะหาข้อมูลและหาวิธีรับมือ วิธีส่งต่อธุรกิจ

ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกสิกรไทยจึงจัดสัมมนาให้กับลูกค้า เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 รวมถึงภาษีการให้ เพื่อช่วยให้ลูกค้าวางแผนจัดการให้ทายาทรับ-ส่งธุรกิจได้ง่ายขึ้น ลดความขัดแย้งในครอบครัว และเป็นการจัดการธุรกิจในระยะยาว โดยแบงก์ได้เสนอให้ลูกค้าตั้งบริษัทโฮลดิ้ง (Holding Company) หรือการจัดโครงสร้างในรูปของการถือหุ้นในบริษัทอื่น

“บริษัทไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ถ้ามียอดขายระดับ 10 ล้านบาทขึ้นไป ก็ควรทำโฮลดิ้ง คอมปะนี ซึ่งก็มีลักษณะโครงสร้างคล้าย ๆ กงสี ที่สามารถบริหารสินทรัพย์ในครอบครัว หรือหากจะต่อยอดธุรกิจเพื่อนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือขยายการลงทุนในต่างประเทศก็ทำได้ง่ายขึ้น” จงรักกล่าว

ขณะที่ “ชินภัทร วิสุทธิแพทย์” ทนายความหุ้นส่วน บริษัท สำนักงานกฎหมายสยามซิตี้ จำกัด ให้ข้อมูลว่า หลังจาก พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกมีผลบังคับใช้ สินส่วนตัว สินสมรส และหนี้สินของผู้เสียชีวิตจะถูกนับเข้าเป็น “กองมรดก” และตามกฎหมายไทยฉบับล่าสุด ภาษีมรดกจะเริ่มจัดเก็บเมื่อมีการแบ่งทรัพย์มรดกจากกองมรดกให้กับทายาท ซึ่งหมายความว่า หากยังไม่แบ่งทรัพย์ในกองมรดกก็ยังไม่มีภาระภาษี

ดังนั้น ข้อแนะนำง่าย ๆ คือ สำหรับผู้มีความมั่งคั่ง ก่อนเสียชีวิตเจ้าของมรดกควรเตรียมตัว ด้วยการแบ่งสมบัติออกมา 2 ส่วนหลัก ส่วนแรก คือทรัพย์สินที่เตรียมขาย หรือส่งให้ทายาทในระยะสั้น เช่น ที่ดิน หุ้น เป็นต้น อีกส่วนคือ ทรัพย์สินที่ต้องการให้คงอยู่กับครอบครัว ควรใส่ไว้ในโฮลดิ้ง คอมปะนี เพื่อเป็น “กงสีที่ไม่มีวันตาย” แก่คนในครอบครัว

โดยโฮลดิ้ง คอมปะนีนี้จะเป็นทั้งศูนย์รวมของสมาชิกภายในครอบครัวที่ถือหุ้นร่วมกัน และเป็นการควบคุมกิจการที่มีอยู่ทั้งหมด รวมถึงเป็นทั้งแหล่งสะสมทุนของครอบครัว และลดข้อขัดแย้งภายใน

ส่วนการจัดตั้งโฮลดิ้ง คอมปะนี จะสามารถกำหนดข้อบังคับของบริษัท (กฎหมายบริษัท) ให้เป็นเหมือนกติกาในครอบครัว หรือธรรมนูญของครอบครัว ซึ่งขึ้นกับธรรมชาติพื้นฐานของแต่ละครอบครัวด้วย อย่างไรก็ดี การตั้งกติกาชัดเจนจะสามารถลดความขัดแย้ง และดูแลกิจการเป็นระบบมากขึ้น

ขณะที่การจัดตั้งโฮลดิ้ง คอมปะนี ที่มีสมบัติกองกลาง เสมือนเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญในการขยายธุรกิจของครอบครัว จึงต้องมีการบริหารจัดการ เช่น แยกทรัพย์สินหลักออกจากธุรกิจเสี่ยง แยกทรัพย์สินหลักออกจากบริษัทที่นำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อลดความเสี่ยงและรักษาทรัพย์สินหลักให้อยู่กับครอบครัว ไม่ถูกซื้อขายผ่านหุ้น

สิ่งที่สำคัญอีกด้านคือ “ทรัพย์สินทางปัญญา” หรือ “เครื่องหมายการค้า” ของครอบครัว ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มหรือต่อยอดธุรกิจได้ สิ่งนี้ควรมีการตีมูลค่าเพื่อลดความขัดแย้งในอนาคต

ส่วนการจัดรูปแบบองค์กร โฮลดิ้ง คอมปะนี คือให้คนในครอบครัวถือหุ้น และแบ่งธุรกิจออกมาเป็น 3 บริษัท ได้แก่ 1) บริษัทที่จัดการทรัพย์สินหลัก เช่น ค่าเช่าที่ดิน ค่าเช่าอาคารพาณิชย์ เป็น Property Company 2) บริษัทที่ดำเนินธุรกิจหลัก ตั้งเป็น Operating Company และ 3) บริษัทที่ดูแลด้านทรัพย์สินทางปัญญา แบรนดิ้ง เครื่องหมายการค้า สูตรต่าง ๆ ให้ตั้งเป็น Branding Company เป็นต้น

วันนี้แบงก์จึงรุกให้คำแนะนำลูกค้าให้รับมือกับภาษีการรับมรดก และการส่งมอบธุรกิจได้อย่างราบรื่น มั่นคง มั่งคั่ง

ที่มา : http://www.prachachat.net