นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลโดยดำริของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ทีมเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ดำเนินการภายใต้ “มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ในระยะเร่งด่วน” ผ่าน “โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs” ระยะที่ 2 วงเงิน 50,000 ล้านบาท ให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยสินเชื่อต่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2559 นั้น ความคืบหน้าขณะนี้ ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินการปล่อยกู้ในวงเงิน 50,000 ล้านบาท เต็มวงเงินแล้ว ในวันที่ 5 ก.พ. 2559 ซึ่งเงินจำนวนนี้ทำให้ผู้ประกอบการSMEs รายย่อยตามเงื่อนไขใหม่ร่วม 9,700 ราย ได้รับความช่วยเหลือ คิดเป็นวงเงินเฉลี่ยต่อรายประมาณ 5.1 ล้านบาท
“โครงการระยะแรกเมื่อปลายปีที่แล้ว มีผู้ประกอบการ 11,750 ราย ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนโครงการวงเงิน 100,000 ล้านบาท ถือว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และมาถึงโครงการระยะที่ 2 เพียงไม่ถึง 1 เดือน วงเงิน 50,000 ล้านบาท ก็หมดลง เม็ดเงินไปถึงผู้ SMEs รายย่อยอีกร่วม 9,700 ราย ซึ่งธนาคารออมสินยินดีและมีความภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และเพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจ ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านกลไกของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ ที่มาร่วมผนึกกำลังเป็นแหล่งทุนสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี ในครั้งนี้” นายชาติชาย กล่าว
ทั้งนี้ สถาบันการเงินจำนวน 20 แห่ง ที่เข้าโครงการและได้เบิกใช้วงเงิน ได้แก่ 1. ธนาคารกรุงเทพ ประมาณ 12,800 ล้านบาท 2. ธนาคารไทยพาณิชย์ ใช้วงเงินประมาณ 7,600 ล้านบาท 3. ธนาคารกรุงไทย กว่า 6,400 ล้านบาท 4. ธนาคารกสิกรไทย 6,100 ล้านบาท 5. ธนาคารออมสิน 4,100 ล้านบาท 6. ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จำนวนกว่า 3,600 ล้านบาท และสถาบันการเงินอื่นๆ อีกรวมกว่า 9,000 ล้านบาท
สำหรับโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำฯ วงเงิน 50,000 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี โดยเป็นการปล่อยกู้ให้แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารพาณิชย์ ในอัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี เพื่อนำปล่อยกู้โดยตรงให้กับผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 4% ต่อปี โดยระยะ 2 มีเงื่อนไขที่แตกต่างจากโครงการระยะแรก เพียงแค่เงื่อนไขเดียว คือ จำกัดวงเงินสินเชื่อต่อรายไว้ไม่เกิน 10 ล้านบาท (โครงการแรกกำหนดไว้ไม่เกิน 50 ล้านบาท) ส่วนอัตราดอกเบี้ย เงื่อนไขอื่นๆ เหมือนโครงการระยะแรก
ที่มา : www.tnnthailand.com