พิษ! เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไทย เสียงตอบรับไม่ดีจากภาคเอกชน?


 

จากกรณีที่รัฐบาลไทยประกาศนโยบาย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน หวังกระตุ้นการลงทุนในประเทศมากขึ้นจากนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนในประเทศ ซึ่งมีการเคาะงบประมาณนับพันล้านบาทเพื่อเตรียมความพร้อมตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา รวมถึงการวางผังเมือง เพื่อจัดสรรพื้นที่เตรียมความพร้อมให้เป็น Special Economic Zone ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนไทย ระยะที่ 1 ประกอบด้วย ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด และสงขลา และระยะที่ 2 ประกอบด้วย หนองคาย เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี และนราธิวาส

สำหรับ“เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” ของไทยนั้นจากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศระบุว่าเป็นพื้นที่ที่คณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) กำหนดให้ได้รับการสนับสนุนการลงทุน โดยได้รับสิทธิประโยชน์เป็นกรณีพิเศษสำหรับกิจการที่รัฐให้การสนับสนุน ทั้งด้านการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนผ่านศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว One Stop Service : OSS เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน ทั้งด้านมาตรการภาษี มาตรการด้านการเงิน การบริหารแรงงาน ต่างด้าว แบบไป–กลับ และการจัดสรรพื้นที่ให้เช่า โดยรัฐบาลเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการลงทุนดังกล่าว

ที่น่าเป็นกังวลหลังจากการประกาศพื้นที่ดังกล่าวไม่นาน ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากภาคประชาชนในชุมชนท้องถิ่นเดิมบริเวณเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไทย ถึงผลกระทบทางระบบนิเวศน์จากพิษอุตสาหกรรม ความล่มสลายในอนาคตของภูมิปัญญาพื้นบ้าน การสร้างเขื่อน การจัดสรรใช้พื้นที่ป่าสงวน รวมถึงที่ดินทำกินของชาวบ้านกำลังถูกคุกคาม ฯลฯ จนส่งกระแสต่อต้านมาอย่างต่อเนื่อง ที่รัฐบาลเองก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาหรือบรรเทาสถานการณ์ลงได้

นอกจากนี้ปัญหาที่ตามมา คือเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่สามารถดึงดูดภาคเอกชนไทยและต่างประเทศได้มากพอ แม้ว่ารัฐบาลจะเร่งโชว์ศักยภาพและสิทธิพิเศษสำหรับนักลงทุนที่ต้องการเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจแล้วก็ตาม แต่ภาคเอกชนไทยนิยมการลงทุนไปต่างประเทศมากกว่า เพราะปัจจัยพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศกลุ่ม CLMV ที่ได้สิทธิพิเศษทางภาษีในการส่งออกไปนอกประเทศ และสิทธิพิเศษด้านอื่นๆ ที่ดึงดูดมากกว่าของไทยรัฐบาลควรมองปรากฏการณ์นี้ว่าภาคเอกชนไทยเก่งขึ้นและเป็นวัฏจักรของการพัฒนาแทบทุกประเทศเมื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมถึงจุดหนึ่ง การลงทุนภายในประเทศถึงจุดอิ่มตัวและพื้นที่ทางการตลาดเหลือน้อยลงสิ่งเหล่านี้กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยดึงดูดนักลงทุนได้ไม่ดีเท่ากับกลุ่มประเทศ CLMV

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาครัฐควรมุ่งเน้นจากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้นคือการเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงให้ความสำคัญกับการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ การอำนวยความสะดวกทางการค้า และประสิทธิภาพในการบริหารจัดการในพื้นที่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะหากสามารถสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนได้สำเร็จ จะเป็นการกระตุ้นภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดอีกหนึ่งช่องทาง

กุลจิรา มุทขอนแก่น