เรื่องการเงินในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่ไม่มีสอนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ทำให้หลายคนไม่ค่อยให้ความสนใจ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะสภาพคล่องทางการเงิน บ่งบอกถึงสถานภาพหรือคุณภาพชีวิตของแต่ละคนได้เป็นอย่างดี ดังนั้น หากอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี เรามาเริ่มดูแลสภาพคล่องทางการเงินของเรากันดีกว่าค่ะ
- ลิสต์รายการที่จำเป็นต้องจ่ายทุกเดือน เช่น ค่าที่พัก ค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเดินทาง และเมื่อเงินเดือนออก ให้นำเงินมาชำระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ทันที
- เก็บออมอย่างน้อยเดือนละ 10% ของรายได้ หากเงินจำนวนนี้ยังมีไม่มากพอที่จะนำไปลงทุนต่อยอด แนะนำให้ฝากประจำกับทางธนาคาร เพราะจะได้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าการฝากออมทรัพย์ทั่วไป ค่อยๆ ออมไปเรื่อยๆ
- หางบประมาณที่สามารถใช้จ่ายได้ในแต่ละวัน โดย (นำเงินเดือน – รายจ่ายที่จำเป็น – เงินออม) / 30 วัน เราก็จะได้จำนวนเงินที่สามารถใช้ได้ในแต่ละวัน เพื่อความไม่ประมาทในการใช้จ่ายเงินเกินงบ เราสามารถถอนเงินในส่วนนี้ทั้งหมด โดยขอเป็นแบงก์ย่อย แล้วนำมาจัดสรรเป็นเงินตามจำนวนที่สามารถใช้จ่ายได้ในแต่ละวัน หรือหากมีตู้ ATM อยู่ใกล้ๆ จะกดถอนเงินรายวัน ทีละวันก็ได้ เงินจำนวนนี้สำหรับค่ากิน และค่าอื่นๆ ระหว่างวัน
- เขียนบันทึกรายรับรายจ่าย ไม่ต้องทำให้ยุ่งยาก ขอแค่สามารถบันทึกได้ทันทีว่าในแต่ละวันเราจ่ายเงินไปกับอะไรบ้าง และทุกสิ้นเดือน อย่าลืมสรุปยอดรายรับและรายจ่าย เพื่อที่จะได้เห็นว่าเราใช้จ่ายเงินได้อย่างเหมาะสมหรือยัง หากเงินไม่พอใช้ เกินจากสาเหตุอะไร เช่น ซื้อของที่ไม่จำเป็นมากเกินไป เป็นต้น
- ช้อปปิ้งตอนสิ้นเดือน สำหรับเด็กจบใหม่ เงินในส่วนที่จะใช้จ่ายซื้อของอาจจะมีไม่มากเท่าไหร่นัก หากใช้กันตั้งแต่ต้นเดือน อาจทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน เช่น การชักหน้าไม่ถึงหลังได้ ทางที่ดี แนะนำให้บริหารเงินตาม 4 ขั้นตอนข้างต้นให้ครบก่อน สิ้นเดือนเหลือเท่าไหร่ค่อยช้อป ยิ่งช้อปวันเงินเดือนออกยิ่งดี ใช้เงินเดือนนี้ให้หมดเลยก็ได้ เพราะเงินเดือนถัดไปออกพอดี
เริ่มดูแลสภาพคล่องทางการเงินตั้งแต่เพิ่งเริ่มเข้าทำงานนี่แหละดี เพราะวินัยทางการเงิน ควรฝึกตั้งแต่เมื่อครั้งยังมีเงินน้อย แล้วเมื่อเรามีหน้าที่การงานที่สูงขึ้น สามารถหารายได้เพิ่มมากขึ้น วินัยทางการเงินของเราจะได้เข้มแข็งพอดี