ใส่สารกันบูดในอาหาร เกินมาตรฐาน พิษรุนแรงกว่าพิษงูเห่าถึง 600 เท่า!


กระทรวงสาธารณสุข เผยสารไนเตรทและไนไตรท์ในผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหารต้องไม่เกินมาตรฐานกำหนด เพื่อความปลอดภัยในการรับประทาน

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยข้อมูลการใช้สารไนเตรทและไนไตรท์ใช้เพื่อถนอมอาหาร แต่ต้องไม่เกินมาตรฐานตามประกาศกระทรวงฯ กำหนด ชี้หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย กลุ่มคลอสตริเดียมโบทูลินัม ที่มีพิษร้ายแรงถึงชีวิต แนะประชาชนกินธัญพืช ไข่ ผัก ผลไม้ มีวิตามินซีและอีสูง ไม่กินอาหารซ้ำซาก ป้องกันสารกันเสียเกิดพิษต่อร่างกาย

ขณะที่ความคืบหน้ากรณีข่าว กรณีไส้กรอกในท้องตลาด 15 ตัวอย่าง พบสารไนเตรทและไนไตรท์ 14 ยี่ห้อ ในจำนวนนี้ 3 ยี่ห้อมีปริมาณเกินมาตรฐาน ว่า ได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย สืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสารไนเตรทและไนไตรท์ที่เป็นข่าว และให้ความรู้ประชาชนเพื่อความปลอดภัยในการรับประทานอาหาร และประสานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

อย่างไรก็ตาม สารไนเตรทและไนไตรท์หรือที่รู้จักในชื่อดินประสิว เป็นวัตถุกันเสียที่นำมาใช้ในการถนอมอาหารแบบหนึ่ง เพื่อทำให้เนื้อสัตว์ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน แหนม กุนเชียง และเนื้อเค็ม ที่มีสีสดเป็นสีแดงอมชมพู ช่วยให้อาหารคงสภาพอยู่ได้นาน ไม่เน่าเสีย ซึ่ง European Food Safety Authority (EFSA) ได้บ่งชี้ว่า การใช้เกลือไนไตรท์ปริมาณที่พอเหมาะคือ 50-100 มิลลิกรัม/เนื้อสัตว์ ที่นำมาแปรรูปกิโลกรัม หากเกินมาตรฐาน การเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียกลุ่มคลอสตริเดียมโบทูลินัม จะสร้างสารพิษโบทูลิน มีอันตรายถึงชีวิต พิษรุนแรงกว่าพิษงูเห่าถึง 600 เท่า