ทรัพย์สินประเภทใด? ที่ต้องเสียภาษีมรดก


อาจารย์พรรณี วรวุฒิจงสถิต กรรมการภาษีอากร สภาหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาษีมรดก คือ การเก็บภาษีจากทรัพย์สินของผู้ที่เสียชีวิต,ทายาท,ผู้ที่ได้รับทรัพย์สินนั้น ซึ่งภาษีมรดกสามารถแบ่งได้ เป็น 2 ประเภท คือ

1.ภาษีกองมรดก เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากกองมรดกก่อนแล้วจึงแบ่งทรัพย์สินมรดกตามพินัยกรรม ดังนั้น ผู้ที่มีสิทธิรับทรัพย์สินทุกคนจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่เท่ากัน ไม่ว่าจะได้รับทรัพย์สินเป็นเงินมากหรือน้อยก็ตาม ประเทศที่ใช้ภาษีกองมรดก เช่น สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

2.ภาษีการรับมรดก เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากผู้รับมรดกแต่ละคน คิดภาษีตามมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้รับ อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับมรดกและผู้ที่เสียชีวิตก็มีผลต่อการคิดอัตราภาษีเช่นกัน ประเทศที่ใช้ภาษีการรับมรดก เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ไทย(ปี2559) เป็นต้น ทรัพย์สินประเภทใดบ้างที่ต้องเสียภาษี ?

– อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างทั้งหลาย

– หลักทรัพย์ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ เช่น หุ้น หุ้นกู้ หน่วยลงทุน คราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์ต่างๆ – เงินฝาก หรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน

– ยานพาหนะ ที่มีหลักฐานทางทะเบียน ได้แก่ รถ เรือ รถจักรยานยนต์

– ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นตามกฎหมายในอนาคต ดังนั้นผู้รับมรดก ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับจากเจ้ามรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท จำเป็นต้องเสียภาษีการรับมรดก