“สถาบันอาหาร” รื้อแผนเพิ่มกลยุทธ์เชิงรุกบุกอุตฯ เป้าหมาย


สถาบันอาหาร กางแผนปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญในอนาคต

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยถึงแผนการปรับโครงสร้างสถาบันอาหาร ว่า หลังจากที่รัฐบาลกำหนดให้อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญในอนาคต คณะกรรมการสถาบันอาหาร จึงได้ปรับโครงสร้างของสถาบันเพื่อรองรับนโยบายดังกล่าว โดยมี เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเชิงลึก และ นำกระบวนการผลิตยุคใหม่เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมนี้ เพิ่มขึ้น

โดยได้เพิ่มหน่วยงานใหม่ 4 หน่วยงาน ได้แก่ หน่วยงานดูแลโรงงานแปรรูปอาการต้นแบบ ซึ่งสถาบันมีแผนที่จะลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปอาหารต้นแบบ 5 แห่ง ใน 5 ภูมิภาค ที่จะออกแบบโรงงานเพื่อรองรับวัตถุดิบการเกษตรในแต่ละภูมิภาค ล่าสุดในปี 2560 รัฐบาลได้อนุมัติตั้งโรงงานแปรรูปอาหารนำร่อง 1 แห่ง ในภาคใต้ ใช้งบลงทุน 60 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การนึ่งปลาทู ที่สามารถนำน้ำทิ้งที่เกิดจากกระบวนการผลิตมาสกัด เป็นโอเมก้า 3 และสารสกัดอื่นๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าอาหารมากกว่าการผลิตแบบเดิมๆ ทั้งนี้โรงงานต้นแบบจะเปิดให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาเช่าผลิตสินค้า

โรงงานต้นแบบที่ภาคใต้แห่งนี้ จะสามารถ รองรับเอสเอ็มอีด้านการประมง และแปรรูปสินค้าเกษตร อื่นๆ ได้ไม่ต่ำกว่า 100 ราย เพราะได้ออกแบบสายการผลิต ให้สามารถรองรับการผลิตที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยให้ เอสเอ็มอีที่ขาดแคลนเงินลงทุนโรงงานที่ทันสมัยเข้ามาใช้บริการได้ รวมทั้งยังเป็นโรงงานต้นแบบให้ ผู้ประกอบการได้เข้ามาศึกษา เพื่อนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย ไปปรับปรุงกระบวนการผลิตของตัวเอง จะช่วยยกระดับ การผลิตทั้งภูมิภาค โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จะเข้ามาช่วยวางกรอบในการคัดเลือกเอสเอ็มอีที่จะ เข้ามาเช่าโรงงาน

นอกจากนี้ ยังได้ตั้งหน่วยงานที่ปรึกษาระบบการผลิต เพื่อให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในทุกด้านและทุกกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป, หน่วยงานศูนย์รวบรวมงานวิจัยต่างๆ ในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้ ผู้ประกอบการเข้ามาเลือกงานวิจัยต่างๆ ที่มีอยู่นำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า, หน่วยงานด้านเครื่องจักร มีหน้าที่รวบรวมเทคโนโลยีเครื่องจักรในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทุกชนิด เพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการในการเลือกใช้เครื่องจักรที่ เหมาะสมกับสินค้าของตัวเอง ซึ่งจะช่วยลด การพึ่งพาแรงงานได้ในอนาคต เพราะขณะนี้ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารใช้แรงงานสูงมาก

นายยงวุฒิ กล่าวว่า สถาบันยังได้ตั้งคณะทำงานจัดทำมาตรฐานอาหารไทย เพื่อทำหน้าที่กำหนด “มาตรฐานอาหารไทย” ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และจะออกตรารับรองสินค้าว่ามีมาตรฐานและรสชาติอาหารไทยดั้งเดิม เพื่อเป็นมาตรฐานให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศมีรสชาติใกล้เคียงกัน เบื้องต้นจะให้ตรารับรองกับสินค้าน้ำซอสแกงไทย ชนิดต่างๆ เพื่อให้ชาวต่างชาตินำไปปรุงอาหารไทยที่มีรสชาติเหมือนที่รับประทานในไทย เป็นต้น