ผู้นำ…แบบญี่ปุ่น (ตอนที่ 2) : อ.สุรวัฒน์ ชมภูพงษ์


เมื่อปีที่แล้วผมเดินทางไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นช่วงสงกรานต์ มาปีนี้ความประทับใจยังคงค้างคาอยู่ในใจเลยตัดสินใจไปอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ไปที่เมืองทาคายาม่า (Takayama :高山市) จังหวัดกิฟุ ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น “Little Tokyo”  หรือ “โตเกียวน้อย” เป็นเมืองเก่าแก่ที่ยังคงอนุรักษ์อารยธรรม ขนมธรรมเนียมประเพณีในอดีตของชาวญี่ปุ่นได้อย่างสมบูรณ์ เป็นแหล่งรวมประวัติศาสตร์และยังคงความสมบูรณ์ของธรรมชาติอันงดงาม เงียบและสงบ บ้านเรือนสร้างด้วยไม้ในแบบโบราณ  ดูเก่าแก่เพราะเป็นถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรป่าไม้ตั้งแต่ในสมัย “นารา” เมืองหลวงเก่าแก่ยุคก่อน “เกียวโต” และ “โตเกียว” ช่างไม้ของเมืองทาคายาม่ายังได้ถูกจารึกว่าเป็นช่างไม้ฝีมือดีและมีชื่อเสียง นอกจากนั้นก็ยังไปเมือง คานาซาว่า (Kanazawa :金沢市) เมืองหลวงของจังหวัดอิชิกาว่า  ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของแผ่นดินหลักของประเทศญี่ปุ่น อาณาเขตของเมืองนี้ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำ Saigama และแม่น้ำ Asano  มีสวนเคนโระคุเอ็น (Kenrokuen) และปราสาทคานาซาว่า (Kanazawa Castle)  ที่สวยงามและเด่นเป็นสง่าของเมือง และเมืองสุดท้ายที่เดินทางไปก่อนกลับกรุงเทพฯ ก็คือเมืองนาโกย่า (Nagoya :名古屋市) อยู่ในจังหวัดไอจิ  เป็นเมืองแห่งปราสาทเก่าแก่ใหญ่เป็นอันดับที่สี่ของประเทศญี่ปุ่นและเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเครื่องถ้วยชามและเครื่องปั่นดินเผาที่สร้างรายได้ให้กับชาวญี่ปุ่นได้มากมาย

ที่ผมต้องอารัมภบทเล่าเรื่องราวของเมืองต่าง ๆ ที่เดินทางไปมาก็เพื่อต้องการที่จะชี้ให้เห็นว่าเมื่อญี่ปุ่นตั้งใจจะเปิดประเทศให้ผู้คนทั้งโลกเข้าไปเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยในประเทศของเขา เขาจึงต้องปรับท่าทีและกระบวนการบริหารจัดการทางการตลาดใหม่ โดยยังคงอนุรักษ์และรักษาไว้ซึ่งความเป็นตัวตนของคนญี่ปุ่น  ฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าระยะหลังมานี้การท่องเที่ยวของญี่ปุ่นมีความโดดเด่น มีความหลากหลาย แต่ยังคงซ่อนหรือแฝงเร้นวัฒนธรรมประเพณี ค่านิยม วิถีชีวิต และสถานที่ในทางประวัติศาสตร์ ศาสนสถาน แล้วนำสิ่งเหล่านี้ออกมาขายได้อย่างแยบยล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน  วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ศิลปะการแสดงโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือพื้นที่แสดงความเป็นตัวตนแท้ ๆ ของชาวญี่ปุ่น แม้กระทั่งความสำเร็จหรือความล้มเหลวในด้านต่าง ๆ เขาก็กล้าพอที่จะนำออกมาขายและหากเป็นความล้มเหลวเขาก็ยังทำวิกฤตเหล่านั้นให้เป็นโอกาสได้อีกด้วย เพราะคนทุกคนบนโลกใบนี้ก็ล้วนแต่ทราบกันดีว่า ไม่มีประเทศไหนหรือใครที่จะประสบความสำเร็จไปในทุกเรื่อง แต่ถ้าล้มเหลวแล้วหาทางเยียวยาแก้ไขหรือหาวิธีป้องกันได้อย่างไรต่างหาก จึงจะเป็นวิถีทางที่ถูกต้องของ “อารยชน” ซึ่งเมื่อพูดถึงความเป็นอารยชนแล้ว ทำให้ผมคิดไปถึงเรื่องการพัฒนาประเทศของเขาโดยเน้นหลักการเรื่องการมี “ระเบียบวินัย” ที่เคร่งครัด และการมี “จิตสาธารณะ” ผมทราบมาว่าที่บ้านเมืองของชาวญี่ปุ่นสะอาดสะอ้านนั้น มิใช่เฉพาะว่าพวกเขาจะดูแลหน้าบ้านของตนเองให้สะอาดเท่านั้น แต่ชาวญี่ปุ่นคำนึงถึงหน้าบ้านของเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ รวมถึงที่สาธารณะด้วยว่าต้องสะอาดเช่นกัน จึงไม่มีลักษณะ “ปัดสวะไปให้พ้น” หน้าบ้านฉันสะอาดก็พอแล้ว บ้านคนอื่นจะเปรอะเปื้อนหรือเป็นอย่างไรฉันไม่สนใจ ก็คงมิใช่เช่นนั้น ผมไปญี่ปุ่นคราวนี้ช่วงเช้าอากาศค่อนข้างหนาวและเย็นกำลังสบาย ๆ ในช่วงสาย ๆ ผมจึงมีโอกาสไปเดินตามถนนหนทางสวนสาธารณะและในที่ต่าง ๆ  ผมเรียนตามตรงจากที่เห็นมาด้วยตาตนเองเลยนะครับว่าแทบจะไม่เห็นขยะตามท้องถนนหรือตามสถานที่ต่าง ๆ เลยแม้แต่ชิ้นเดียว นึกในใจว่าเขาทำได้อย่างไรกันนะ ผมคิดเอาเองว่าก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องการอบรมบ่มเพาะนิสัยของคนญี่ปุ่นตั้งแต่เยาว์วัยจนกลายเป็นสิ่งที่อยู่ในสามัญสำนึกของพวกเขานั่นเอง  เรื่องแบบนี้จะมองว่าง่ายก็ง่าย แต่สำหรับบ้านเราอาจจะเป็นเรื่องยากมากเพราะไม่เอาจริงเอาจังกัน ผู้ใหญ่ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกหลานเห็นและกวดขันอย่างเคร่งครัดเพราะมันคือ “สุขอนามัย” ของคนทั้งชาติ จะให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. หรือแม้กระทั่งมาตรา 44 ก็คงไปสั่งให้ใครทำไม่ได้ ถ้าปราศจากจิตสำนึกที่แท้จริงของคนในชาติ เห็นมั้ยครับว่าเรื่องเพียงเท่านี้ก็ทำให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้นำขึ้นมาได้แล้ว

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากหยิบยกขึ้นมาเล่าสู่กันฟังก็คือเรื่อง ความซื่อสัตย์ต่อตนเองและวิชาชีพ ก็อย่างที่พวกเราทราบกันดีว่าประเทศญี่ปุ่นประสบความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจค่อนข้างมากโดยเขาอาศัยหลักการในการทำการค้าขายโดยยึดหลัก “ผู้ขายได้ ผู้ซื้อได้ สังคมได้” “กำไรน้อยแต่ขายได้มาก” “ความถูกต้องต้องมาก่อน กำไรมาทีหลัง” จากเคล็ดลับความสำเร็จข้างต้นนี้จึงทำให้ชาวญี่ปุ่นต้องสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจกับลูกค้า มิใช่มุ่งหาแต่กำไรให้องค์กรโดยไม่คำนึงถึงเรื่องใด ๆ เลย เพราะเม็ดเงินสร้างได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ความไว้วางใจและความเชื่อมั่นต้องใช้ความซื่อสัตย์และความจริงใจ และต้องใช้ระยะเวลาในการบ่มเพาะนานมากทีเดียว

นอกจากนั้นความที่ประเทศญี่ปุ่นเกิดภัยพิบัติโดยเฉพาะแผ่นดินไหวบ่อยมาก ทำให้คนญี่ปุ่นมิอาจจะล่วงรู้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตนหรือธุรกิจของตน  พวกเขาจึงมีความพยายามในการต่อสู้กับชีวิตและมีความอดทนสูงมาก    ผมรู้สึกว่าคล้าย ๆ กับชาวพม่าเวลานี้ที่ต่อสู้ดิ้นรนเข้ามาทำงานในเมืองไทยมากมาย พยายามเรียนรู้ภาษา วัฒนธรรมพร้อมทั้งปรับตัวให้เข้ากับสภาพของคนไทย  เห็นชาวพม่าเต็มบ้านเต็มเมืองเวลานี้และขยันขันแข็งในการทำงานโดยไม่เกี่ยงงาน เกี่ยงเรื่องเงิน เพียงขอให้มีงานทำก็ดีใจแล้วเพราะชีวิตเขาต้องดิ้นรนมาก ๆ ทำให้นึกถึงคนไทยว่าต่อไปอีกไม่นานพวกเราชาวไทยจะเป็นอย่างไรกันบ้างหนอ? เริ่มต้นจากเรื่องของชาวญี่ปุ่นแต่บทความวันนี้กลับมาลงที่ชาวพม่าเสียแล้ว เห็นทีว่าผมคงจะต้องไปประเทศพม่าแล้ว หาเรื่องสนุกๆ มาเล่าให้ฟังกันในโอกาสต่อไป… ดีมั้ยครับ?

………………………….