ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดี คณะบริหารธุรกิจ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน “นวัตกรรม” มีบทบาทในการขับเคลื่อนธุรกิจไม่เว้นแม้กระทั่งธุรกิจครอบครัว ซึ่งการปรับตัวของธุรกิจครอบครัวให้ทันกับนวัตกรรมยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันระหว่างคนสองรุ่น ด้วยความเข้าใจและแนวคิดที่แตกต่างกัน โดยทายาทธุรกิจมักประสบปัญหาในการโน้มน้าวให้คนรุ่นก่อนให้ความสำคัญในการนำนวัตกรรมมาขับเคลื่อนองค์กร ฉะนั้น คำว่า “การลงทุน” จึงเป็นประโยคสำคัญในการพลักดันธุรกิจครอบครัวให้รู้จักนำสิ่งใหม่ๆมาผสมผสานในธุรกิจเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคใหม่ สำหรับสิ่งที่ธุรกิจครอบครัวควรลงทุน ได้แก่
-การลงทุนในนวัตกรรม คำว่านวัตกรรมแล้วอาจดูยิ่งใหญ่ แต่จริงๆ แล้ว เป้าหมายของนวัตกรรมหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก เพื่อทำให้สิ่งต่างๆ เกิดเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น นวัตกรรมก่อให้เกิดผลผลิตใหม่ๆ และเป็นที่มาสำคัญของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เช่น การเปลี่ยนวิธีการทำงานเป็นวิธีใหม่ๆ เพื่อให้เกิดแนวความคิดใหม่กับองค์กรอย่างต่อเนื่อง
-การลงทุนในเทคโนโลยี ปัจจุบันต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนไปตลอดเวลา เราต้องปรับตัวให้ทัน เช่น เรื่องโซเชียลมีเดีย เพราะเราสามารถหาข้อมูลได้ในพริบตา พฤติกรรมของผู้บริโภคจึงเปลี่ยนไป ต้องการอะไรอย่างรวดเร็ว ต้องติดต่อได้ตลอดเวลา เหมือนบริษัทเป็นคนหนึ่งคนในโลกออนไลน์ ซึ่งธุรกิจสมัยนี้จะต้องตามให้ทัน หรือแม้แต่ความสามารถของเครื่องจักรเอง ก็ต้องลงทุนอยู่เรื่อยๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายในระยะยาว อย่างที่บริษัทเองก็ได้มีการลงทุนเครื่องจักรใหม่ และเพิ่มช่องทางการติดต่อบนเฟสบุ๊คเพื่อตอบโจทย์ของผู้บริโภค
-การขยายธุรกิจ การก้าวเข้าสู่ AEC ที่กำลังจะมาถึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของผู้ประกอบการธุรกิจไทยและอาเซียนในการก้าวสู่เวทีโลก ฉะนั้นการเดินหน้ารุกและตั้งรับในครั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจ ไม่ว่าเล็ก กลาง ใหญ่ ต้องมีการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง และมองถึงการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งต้องเน้นในเรื่องการบริการ เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและสร้างลูกค้าใหม่ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นการดำเนินธุรกิจครอบครัว บนความเปลี่ยนแปลงของโลก ธุรกิจจะเติบโตได้ จำเป็นต้องอาศัยการประสานงานของคนทุกรุ่น เพราะลำพังเพียงประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่ ไม่สามารถที่จะมองทะลุธุรกิจไปได้ จำเป็นต้องเอาองค์ความรู้ของแต่ละรุ่นมาประกอบกันให้เป็นภาพใหญ่ รวมไปถึงต่อยอด, พัฒนา และเสริมสร้างให้แข็งแกร่งขึ้น
-การรักษาและบริหารบุคลากร การทำงานอยู่ในองค์กรเดียวกันก็เหมือนกับการลงไปอยู่ในเรือลำเดียวกัน เมื่อต้องการไปให้ถึงจุดหมาย สมาชิกทุกคนที่อยู่ในเรือก็ต้องช่วยกันพายเรือ ยิ่งช่วยกันพายมากเท่าไร เราก็ยิ่งไปสู่ความสำเร็จในการทำงานได้เร็วขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะโรงพิมพ์ยังต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมและความชำนาญของบุคลากรเป็นสำคัญ ฉะนั้นการรักษาบุคลากรที่มีความชำนาญให้รักองค์กรและอยู่กับเรานานๆ อย่างมีความสุข และการรับบุคลากรเข้ามาใหม่ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ดี “นวัตกรรม” อาจไม่ใช่เพียงการสร้างสรรค์ของใหม่เสมอไป แต่อาจจะหมายถึง การปรับแนวคิดหรือการใช้งานของสิ่งหนึ่งก็เป็นได้