แฉมหากาพย์หนี้นอกระบบ กลโกงเคราะห์ซ้ำSME


แฉมหากาพย์หนี้นอกระบบ กลโกงเคราะห์ซ้ำSME

จากข้อมูลล่าสุด เอสเอ็มอีที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ปัจจุบันมีอยู่ 6.1 แสนราย และมีการส่งงบการเงิน 4.2 แสนรายในกลุ่มนี้ มีเอสเอ็มอีที่มียอดหนี้สิน 3-10 ล้านบาท หรือประมาณ 51,000 ราย และเข้าข่ายต้องอาศัยกฎหมายฉบับนี้ แก้ปัญหาฟื้นฟูกิจการ ประมาณ 7,400 ราย มียอดหนี้สินรวม 43,000 ล้านบาท โดยพิจารณาจากยอดขายที่ลดลงติดต่อกัน 3 ปีย่อมสะท้อนเข้าไปถึงมุมปัญหาหนี้นอกระบบที่ยังสะสางไม่จบไม่สิ้น มีข่าวมาโดยตลอด ผู้กู้มีทั้งถูกนายทุนยึดบ้านยึดที่ดิน ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและทรัพย์สิน และถึงขนาดจะต้องตรอมใจตาย

สาเหตุสำคัญของการเป็นเหยื่อหนี้นอกระบบ เนื่องจากความยากจน ความเดือดร้อน ความไม่รู้ ที่จะต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วน อีกทั้งไม่สามารถที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน รวมทั้งขาดความรู้ด้านกฎหมาย ทำให้เจ้าหนี้นอกระบบใช้ช่องว่างกฎหมายที่จะหลอกลวง

เล่ห์กลของเจ้าหนี้นอกระบบ เริ่มตั้งแต่ติดโฆษณาเงินด่วนตามป้ายรถเมล์ เสาไฟฟ้า ฯลฯ เชิญชวน “เงินด่วนทันใจ รับเงินทันที ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำฯ ติดเครดิตบูโรก็กู้ได้” โดยคิดดอกเบี้ย 30-60% ต่อปี ทำสัญญาเงินกู้เกินจริง เช่น กู้เงิน 1 แสนบาท แต่ในสัญญาเขียนว่ากู้เงิน 3 แสนบาท รวมถึงการกู้ยืมเงินโดยให้ผู้กู้เงินเซ็นเอกสารยินยอมขายฝากหรือจดจำนองที่ดิน จนที่ดินถูกโอนให้เป็นของบริษัทเงินกู้ แม้ว่าลูกหนี้จะชำระหนี้ทุกเดือน แต่ก็ไม่มีการออกใบเสร็จให้เป็นหลักฐาน หรือไม่ยอมรับเงิน อ้างว่าไม่อยู่ ในที่สุดก็อ้างว่าลูกหนี้เบี้ยวสัญญาก่อนจึงต้องฟ้องยึดทรัพย์

และที่สำคัญ เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายหลีกเลี่ยงไปใช้วิธีการบังคับให้ลูกหนี้ยินยอมให้ฟ้องศาลและเตรียมบังคับคดี ก่อนที่จะปล่อยเงินกู้ เพื่อให้สามารถบังคับคดีได้ทันทีที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ

พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับ9) พ.ศ.2559 ด้านการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) น่าจะเป็นท่อต่อลมหายใจผู้ประกอบการ หลังกฎหมายฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2559 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการฟื้นฟูกิจการ และปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ทั้งหลาย

โดยกฎหมายฉบับนี้ จะช่วยให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ที่มีวงเงินหนี้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ได้รับสิทธิประโยชน์คือ หากเจ้าหนี้หลักรับแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว เจ้าหนี้อื่นจะมาฟ้องไม่ได้ ซึ่งจะทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ เป็นไปได้ง่ายขึ้น และโอกาสที่เจ้าหนี้เดิมจะให้เงินกู้เพิ่ม เพื่อให้เอสเอ็มอีมีสภาพคล่อง ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ในส่วนนี้ เอสเอ็มอี ที่เข้าร่วมโครงการปรับแผนธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถเอสเอ็มอี (Turn Around) ของ สสว.จะได้รับสิทธิประโยชน์ โดยจะประสานให้มีการยื่นแผนฟื้นฟู และมีโอกาสที่จะได้รับเงินกู้เงิน จากกองทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อยของ สสว. ที่มีวงเงิน 1 พันล้านบาท กู้ยืมได้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0% ระยะเวลา 7 ปี โดยตั้งเป้าหมาย กลุ่ม Turn Around จะกลับมาฟื้นฟูกิจการได้ 50%:7ซึ่งน่าจะเป็นหนทางที่ไม่ให้เกิดเคราะห์ซ้ำของผู้ประกอบการ