ชี้ผลวิจัย ประชาชนยังกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า


ชี้ผลวิจัย ประชาชนยังกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานรากธนาคารออมสิน ประชาชนฐานรากกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผย ผลการสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก หรือ GSI ประจำเดือนพฤษภาคม 2559 ได้ดำเนินการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ทั่วประเทศ จำนวน 1,530 ตัวอย่าง ผลที่ได้พบว่า GSI เดือนพฤษภาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 43.6 ปรับลดลงจากเดือนเมษายน ที่อยู่ระดับประมาณ 44.9 แสดงให้เห็นว่าประชาชนระดับฐานรากผู้บริโภคยังคงเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันฟื้นตัวค่อนข้างล่าช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาวะภัยแล้งและราคาพืชผลทางการเกษตรยังมีราคาต่ำ ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศยังฟื้นตัวไม่มาก

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2559 ขยายตัวได้ร้อยละ 3.2 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 12 ไตรมาส แต่ยังส่งผลสู่ประชาชนฐานรากไม่มาก อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ พบว่า ดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นในความสามารถจับจ่ายใช้สอยในเดือนพ.ค.59 อยู่ที่ระดับ 68.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย.59 ที่อยู่ที่ระดับ 61.3 และดัชนีความเชื่อมั่นในภาระหนี้สินอยู่ที่ระดับ 44.9 เพิ่มขึ้นจาก 40.1 แสดงถึงภาระหนี้สินที่ผ่อนคลายลง ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจ การออม โอกาสในการหางานทำ และการหารายได้ของเดือนพ.ค.59 ปรับตัวลดลงจากเดือนเม.ย.59

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานราก คาดการณ์ด้วยว่าการบริโภคของภาคประชาชนฐานรากยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนักในช่วงนี้ เนื่องจากประชาชนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ การฟื้นตัวของประชาชนฐานรากน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 หรือต้นไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง เนื่องจากภาวะดังกล่าวสามารถส่งผลเชิงลบต่อเนื่องมาที่ภาพเศรษฐกิจในระดับฐานรากผ่านความผันผวนของรายได้ การมีงานทำ ตลอดจนภาระหนี้และค่าใช้จ่ายได้

นอกจากนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนฐานรากเกี่ยวกับปัญหาหนี้นอกระบบในภาวะค่าครองชีพสูง โดยเมื่อสอบถามถึงปัญหาด้านรายได้และหนี้สินในปัจจุบัน พบว่า ปัญหาที่อยู่ในระดับมาก 3 อันดับแรก คือ รายได้ไม่พอกับภาวะค่าครองชีพ ในปัจจุบัน (ร้อยละ 45.4) ระบุว่า รายได้ไม่แน่นอน และ ราคาผลผลิตการเกษตรไม่แน่นอน ร้อยละ 40.0 และเงินที่หามาได้ส่วนใหญ่ ต้องนำมาใช้หนี้  ร้อยละ 28.9

อย่างไรก็ตามพบว่า ประชาชนฐานรากที่ไม่มีปัญหาเจ้าหนี้คุกคามหรือนายทุนขูดรีด ร้อยละ 65.4 ไม่ต้องกู้หนี้ใหม่มาชำระหนี้เก่าต่อๆ กันไปไม่จบสิ้น ร้อยละ 57.8 และไม่มีปัญหาอัตราดอกเบี้ย หนี้นอกระบบสูงร้อยละ 56.9