กรมบังคับคดีร่าง กม.ล้มละลายข้ามชาติ


กรมบังคับคดีร่าง กม.ล้มละลายข้ามชาติ

กรมบังคับคดี จัดการประชุมระหว่างประเทศ เร่งร่างกฎหมายล้มละลายข้ามชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนจากต่างชาติ

พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เปิดเผยในการเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการล้มละลายข้ามชาติ ว่า จัดประชุมขึ้นเพื่อเป็นเวทีในการส่งเสริมการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในเรื่องของแนวโน้มหรือกระแสปัจจุบันของคดีล้มละลายข้ามชาติ ความเชื่อมโยงระหว่างกฎหมายล้มละลายและกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ และเพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น เพราะหากรอแต่วิทธิประโยชน์จากการลงทุนคงไม่เพียงพอ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากคุณเคท ลันนัน แผนกกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ / นายคันนัน ราเมช ผู้พิพากษาศาลสูงของสาธารณรัฐสิงคโปร์ / ศาสตราจารย์ชาร์ลส์ ดี บูธ ผู้อำนวยการผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายธุรกิจเอเชียแปซิฟิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาย วิทยาเขตมาโนอา / นายมาเฮช อัททัมจันดานี ผู้เชี่ยวชาญภาคการเงินระดับโลก ฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานด้านการให้สินเชื่อ ธนาคารโลก(World Bank)

ทางด้านนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยถึงการร่างกฎหมายล้มละลายข้ามชาติของไทยว่า ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปแล้วร้อยละ 99 ซึ่งได้คุณเอื้อน ขุนแก้ว ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นผู้ร่างและขึ้นเวทีร่วมสัมมนาในงานด้วย โดยการร่างนั้นจะให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการทำกฎหมายนี้ให้เป็นสากล ซึ่งกรมได้เชิญผู้อำนวยการบังคับคดีทั่วประเทศมาร่วมฟังด้วยเพื่อให้เวทีเสริมสร้างศักยภาพ

นอกจากนี้ ท่านได้อธิบายเพิ่มเติมประเด็นเชื่อมโยงระหว่างกฎหมายล้มละลายข้ามชาติและกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ว่า ปัจจุบันนี้อยู่ในขั้นตอนของการฟังมุมมองจากการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งตามแนวทางธนาคารโลกได้กล่าวเอาไว้ว่า กฎหมายล้มละลายและกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ จะประกอบไปด้วยผู้ใช้มี3ประเภท คือ นักกฎหมาย นายธนาคาร และบริษัท ซึ่งกรมบังคับคดีคาดว่าเดือนภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมจะมีการทำประชาพิจารณ์และส่งเสนอต่อ ครม. ต่อไป

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 25 มิถุนายน 2559 ณ โรงแรม เดอะเบอร์เคลีย์(เคลี่) ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย ครั้งที่ 16 และมติที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านกฎหมาย ครั้งที่ 9  โดยในวันนี้(24 มิ.ย)จะเป็นการประชุมภาคปฏิบัติ ปัญหาอุปสรรคต่างๆของกฎหมายฉบับนี้