ไทย-ญี่ปุ่น จับคู่เจรจาในเวทีธุรกิจ


ไทย-ญี่ปุ่น จับคู่เจรจาในเวทีธุรกิจ

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งจับคู่ธุรกิจไทย –ญี่ปุ่นตั้งเป้าไม่ต่ำกว่า 50 ราย เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย

นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่ากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)ได้จัดกิจกรรมสัมมนาและเจรจาธุรกิจ(Business Matching)ระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นโดยมีบริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่สนใจลงทุนในประเทศไทย จำนวน 14 บริษัท ได้แก่ บริษัทShowa electric MFGจำกัด (ออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์และซอฟต์แวร์อิเล็คทรอนิกส์) บริษัท Matsui Corporationจำกัด (บริษัทจัดหาผลิตภัณฑ์เครื่องจักรและเครื่องยนต์) และ บริษัท Tanaka Foodจำกัด (ผู้แปรรูปและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากธัญพืช โดยใช้ข้าวหอมมะลิจากไทย) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาให้ความรู้ผู้ประกอบการในหัวข้อเทคนิคการค้าและการลงทุนกับประเทศญี่ปุ่น และข้อควรระวังในการลงทุนร่วมกับต่างประเทศ ซึ่งการร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทย ได้รับองค์ความรู้ในการบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีที่ทันสมัย และยังส่งผลให้ผู้ประกอบการของญี่ปุ่นขยายฐานการผลิตในประเทศไทยและเกิดการจ้างงานในประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกันเป็นการสร้างโอกาสให้นักลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของไทยได้ขยายการลงทุนตลอดจนก่อให้เกิดการรวมกลุ่มเครือยข่ายอุตสาหกรรม (Cluster) ที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย

ทั้งนี้ จากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ประเทศญี่ปุ่นมีความสนใจในการลงทุนในประเทศไทยได้แก่ อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เนื่องจากไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบ การคมนาคมที่สะดวกทันสมัย และแรงงานที่มีศักยภาพ ทั้งนี้จากการจัดกิจกรรมดังกล่าวคาดว่าจะเกิดการจับคู่ธุรกิจได้ไม่ต่ำกว่า 50 ราย

สำหรับที่ผ่านมา กสอ. ได้ดำเนินโครงการ“โต๊ะญี่ปุ่น”(Japan Desk) ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมและพัฒนา SMEsให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยเป็นความร่วมมือ ระหว่างรัฐกับรัฐ ซึ่งได้มีความร่วมมือกับจังหวัดต่าง ๆ ของญี่ปุ่น อาทิ จังหวัดไซตามะ จังหวัดยามานาชิ จังหวัดอาคิตะ จังหวัดโทโทริและจังหวัดเกียวโต เป็นต้น โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ญี่ปุ่นได้เข้ามาลงทุนในไทยกว่า 700 กิจการ จาก 19 หน่วยงาน อาทิ อุตสาหกรรมด้านสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมสิ่งทออุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะยังคงเน้นในการขยายความร่วมมือไปยังจังหวัดและเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญของญี่ปุ่นตามแต่ละพื้นที่ที่มีจุดเด่นสอดคล้องอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย