เทคโนโลยี และนวัตกรรม ขับเคลื่อน SMEs


งานสัมมนาในหัวข้อ เทคโนโลยี + นวัตกรรม ขับเคลื่อน SMEs โดยรองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์  คำฝอย  รองอธิบดีฝ่ายแผนงาน  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง สนับสนุนโดย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank)

รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า การขับเคลื่อน SMEs ไทยให้ก้าวสู่การมีศักยภาพการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ เราต้องสร้างเทคโนโลยี + นวัตกรรมและจะสร้างนวัตกรรมอะไรนั้นเป้าหมายต้องชัดเจน และต้องอิงกระแส (Trend)
สำหรับประเทศไทยมีแนวโน้มกระแส (Thailand Mega Trend) ดังนี้
Ageing Society Trend โดยนับจากนี้ไปไทยจะเป็น Ageing Society เต็มรูปแบบ ในปี 2563 เช่น เรื่องสุขภาพ อาหาร Smart Device  เช่น จ. บุรีรัมย์ ที่เป็น Capital เรื่องสุขภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ
Internet Of Things Trend อันที่จริงเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ทมาเรียบร้อยแล้ว หน้าที่เราคือพัฒนาบางอย่างเพื่อให้เกิดนวัตกรรม และขายได้พร้อมความสำเร็จ เช่น  อูเบอร์  โทรศัพท์โอนเงิน
Clean Energy Trend อุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้น  เป้าหมายคือเราจะพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดนวัตกรรม จนส่งผลให้มีการใช้พลังงานน้อยลง
Eastern Seaboard Booming Trend ใช้เทคโนโลยีจัดการเมืองแห่งการผลิตให้ประชากรอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัย

ดร.สุรินทร์ กล่าวต่อว่า ผมอยู่ในวงการการศึกษา และต้องการเห็นการศึกษาพัฒนาและเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อโลกเปลี่ยนแปลง We need to change “การเรียนแบบเดิม การท่องจำ การทำข้อสอบในกระดาษไม่ตอบโจทย์ความสำเร็จในชีวิต  ต้องเปลี่ยนเป็นการสอน การเรียนแบบใหม่ ให้มีการปฏิบัติจริง”

ตามพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่พระราชทานแก่ผู้สำเร็จการศึกษา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ  เมื่อปี พ.ศ. 2517 ว่า “การมีความรู้ความถนัดทฤษฎีประการเดียว ไม่เพียงพอที่จะทำให้บุคคลสามารถปฏิบัติงานได้เต็มที่ ผู้ที่ฉลาดสามารถในหลักวิชา โดยปกติวิสัยจะได้แต่เพียงชี้นิ้วให้ผู้อื่นทำ ซึ่งเป็นการไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่อาจทำให้ผู้ใดเชื่อถือหรือเชื่อฟังอย่างสนิทใจได้ เหตุด้วยไม่แน่ใจว่า ผู้ชี้นิ้วเองจะรู้จริงทำได้จริง หรือความสำเร็จทั้งสิ้นทำได้เพราะลงมือกระทำ”

และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ได้ยกตัวอย่างโครงการวิจัย (Project) ที่เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง จนเกิดเป็นผู้ประกอบการใหม่ (SMEs) 2 โครงการ ดังนี้

  1. Smart Microgrid Project ระบบการจ่ายไฟฟ้าอย่างฉลาด ตอบโจทย์ คนอยากรู้ค่าไฟฟ้า ตามช่วงเวลา หากเปิดแอร์ เปิดไฟทิ้งไว้ที่บ้าน สามารถปิดแอร์ออนไลน์ได้ ทราบค่าไฟเมื่อเสียบปลั๊กโทรทัศน์ทิ้งไว้ ฯลฯ ในการทำการวิจัยห้องปฏิบัติการใช้พลังงานสะอาด 100%  โดยนักศึกษาสร้างระบบปฏิบัติการในห้องแล็บโดยไม่ใช้ไฟการไฟฟ้า และห้องแล็บใช้งานได้ปกติ เปิด 24 ชม.
    โจทย์สำคัญของงานวิจัย คือ เมื่อไหร่ก็ตามใช้พลังงานจากการไฟฟ้าน้อย กำไรจะเยอะ เด็กนักศึกษาใช้แนวทางนี้ทำงานด้วยกัน  เขียนโปรแกรมสร้างระบบ การประหยัดพลังงานจากการไฟฟ้าได้สำเร็จ และโครงการวิจัยนี้นักศึกษาที่จบออกจากสถาบัน เริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นผู้ประกอบการ ก่อตั้งบริษัท ชื่อ Grid Whiz Thailand โดยมี ต้นทุนคือ Soft Ware และใช้ห้องแล็บที่มหาวิทยาลัยเป็นฐานปฏิบัติการ ซึ่งนี่คือช่องทางที่สถาบันฯ สนับสนุนให้ SMEs ไทยพัฒนาและเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
  2. Energy Management โดย EV Charging Station Project เพื่อรองรับรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในอนาคต
    เครื่องชาร์จพลังงานไฟฟ้าสำหรับรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า โดยโจทย์คือ ผลการวิจัย และปฏิบัติการต้องได้มาตรฐานญี่ปุ่น โดยเครื่องชาร์จต้องสามารถชาร์จไฟ้ให้รถได้เสร็จภายในไม่เกิน 30 นาที และอุณหภูมิแบตเตอรี่ต้องไม่ร้อน ผลความสำเร็จเกินความคาดหมาย โดยสามารถลดเวลาในการชาร์จจากมาตรฐานญี่ปุ่นได้ถึง 15 นาที โดยทดลองกับ Nissan Live เป็นหลัก และนอกจากจะสามารถชาร์จไฟฟ้าให้กับรถได้แล้ว ยังมีแอพพลิเคชั่นเสริมต่าง ๆ มากมาย เช่น สามารถจองสถานที่จอดรถได้ และอื่น ๆ และผลสำเร็จที่สถาบันภูมิใจ คือ  หลังจากจบการศึกษา นักศึกษาจากโครงการวิจัยนี้  ได้เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นผู้ประกอบการ ถึง  2 บริษัท คือ PA Power และ PG รับจัดทำ Solar Farm และระบบ Monitoring และนี้ก็คือ อีกหนึ่งการเริ่มต้นของ SMEs ที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติจริงในระบบการศึกษา ที่พัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับนวัตกรรม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์  ฝาก 4 องค์ประกอบสำคัญที่จะขับเคลื่อนและเพิ่มอัตราเร่งให้ผู้ประกอบการ SMEs ประสบความสำเร็จได้รวดเร็ว ดังนี้
1. ผู้ประกอบการต้องมี Fighting Spirit (จิตวิญญาณนักสู้) เพื่อให้สามารถก้าวผ่านอุปสรรคได้ตลอดเส้นทางจนถึงความสำเร็จ
2. ผู้ให้คำปรึกษา และผู้ประกอบการ ต้องมี Listen to deeply (มีทักษะการฟังที่ยอดเยี่ยม ในฐานะผู้ให้คำปรึกษา ฟังเพื่อที่จะแก้ปัญหาได้ตรงจุด และผู้ประกอบการฟังเพื่อได้ยินข้อมูลทั้งหมด และสามารถคัดกรองส่วนที่เป็นประโยชน์มาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิผลและเกิดประสิทธิผลสูงสุด
3. ต้องมี Technology & Funding (มีเทคโนโลยีและการลงทุนที่พร้อม เพื่อเตรียมรองรับการขยายตัว)
4. ต้องมี Innovation (นวัตกรรม)
5. และต้อง Focus (มุ่งมั่น) โดยอิง Trend ตามกระแสโลก