Creative Talk : เจาะแง่มุมธุรกิจ ในงานรังสรรค์ไอเดีย


ไอเดียดี ๆ ที่เกิดขึ้นในทุกวงการ จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จ อาจเป็นเชิงธุรกิจ หรือได้รับรางวัลการันตี ซึ่งก็ล้วนแล้วถือว่าสำเร็จด้วยกันทั้งนั้น งานหลายชิ้นที่เจ้าของได้รังสรรค์ขึ้นมานั้น ในเบื้องต้นอาจไม่คาดคิดว่า จะสามารถสร้างผลกำไรในเชิงธุรกิจได้ อย่างเช่น การก่อตั้งเฟซบุ๊กครั้งแรกของ มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก ที่ไม่ได้เล็งผลกำไรขาดทุนเลย แต่ในที่สุดก็มีช่องทางให้สามารถสร้างเป็นธุรกิจได้ โดยที่เจ้าตัวไม่เคยนึกฝันมาก่อน และยังมีกรณีศึกษาอีกมากมาย

เวที Creative Talk ในครั้งนี้ก็เช่นกัน ซึ่งบนเวทีเต็มไปด้วยผู้มีไอเดียมากมาย ที่ขึ้นมาเล่าประสบการณ์การคิดไอเดียงานดี ๆ ให้ผู้เข้าชมได้รับฟัง ซึ่งมีคุณค่าอย่างมาก ที่ผู้ฟังจะสามารถนำไปต่อยอดในสายงานของตนได้ บ้างก็เป็นนักคิดนักเขียน บ้างก็เป็น SME บ้างก็เป็น Startup

การเสวนาเริ่มประเดิมเปิดไมค์กันเรื่องแรกคือ Online Content Session โดย คุณภาคภูมิ เดชหัสดิน เจ้าของเพจชื่อดังหมอแล็บแพนด้า และ คุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ เจ้าของไอเดียคลิปดัง Toolmorrow

มาล้วงลึกกันถึงหมอแล็บแพนด้าผู้มีดีกรีเป็นนักเทคนิคการแพทย์ และมีความเกรียนถูกใจวัยรุ่น มาบอกเล่าประสบการณ์การสร้างเพจชื่อดังบนโลกออนไลน์ ที่ให้ความรู้ด้านสุขภาพอย่างสนุก เข้าใจง่าย แต่ก็มีสาระ ชาวโซเชียลแห่กันเป็นแฟนเพจกว่า 2.5 แสนไลค์

ปัญหาสุขภาพถือเป็นเรื่องใหญ่ ผู้ป่วยจำต้องควักค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนผุดขึ้นเต็มบ้านเต็มเมือง อุตสาหกรรมยามีมูลค่ามหาศาล ทั้งหมดล้วนเป็น “ธุรกิจ” ทั้งสิ้น แต่การให้ความรู้ด้านสุขภาพผ่านเพจหมอแล็บแพนด้า จะเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ให้ทุกคนหันมาดูแลตัวเอง รักษาตัวเองได้ในเบื้องต้น จะช่วยลดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลในเบื้องต้นลงไปได้

ส่วนคุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ แห่ง Toolmorrow เป็นถึงสถาปนิก แต่สนใจงานด้านสังคม โดยอยากเปลี่ยนทัศนคติที่ไม่ถูกต้องของเยาวชน ก็เลยลงมือทำเครื่องมือ เพื่อเป็นตัวช่วยให้เขาคิดได้ นั่นก็คือ ถ่ายคลิปเป็นแบบรายการทีวีออนไลน์ นำทัศนคติที่ส่งผลเสียกับชีวิตเยาวชน เพื่อให้เขารับรู้และไปลองพิสูจน์ดู

มาเสพอาหารสมองหัวข้อที่ 2 เป็นการเผยเบื้องหลังความสำเร็จของงานยักษ์ Startup Thailand Session นำทัพโดย  ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) คุณกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านจัดการความรู้และประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรม สำนักงานรัฐบาลอิเลกทรอนิกส์ ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร นักวิจัยนโยบายอาวุโส คุณวรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง และคุณสิทธิพร อันทะวงษา แห่งเว็บไซต์ชื่อดัง Kaidee.com ซึ่งบริหารโดย บริษัท ดีเอฟ มาร์เก็ตเพลส จำกัด

ทุกคนผลัดเปลี่ยนกันเล่าถึงที่มาที่ไปก่อนที่จะเริ่มจัดงาน Startup Thailand ครั้งล่าสุด ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งผู้เข้าฟังเพิ่งมารู้กันคราวนี้ว่า คณะผู้จัดงานยักษ์นี้มีเวลาเตรียมตัวแค่ 1 เดือนเท่านั้น ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและมีอุปสรรคมากมาย แต่ด้วยความสามัคคีร่วมไม้ร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐเจ้าของไอเดีย และภาคเอกชน จึงส่งผลให้ Startup Thailand 2016 ดังกระหึ่มไปทั่วไทยและทั่วโลก

ต่อมาเป็นหัวข้อที่ 3 เสวนากันถึงเบื้องหลัง Visual Graphic โดย คุณทศพร ทุนนารถ แห่ง Zurreal Studio เป็นอาจารย์พิเศษ และผู้ก่อตั้งบริษัท Zurreal Studio มาเล่าประสบการณ์ที่ต้องใช้หัวสมองรังสรรค์/ครีเอทีฟผลงานด้านเทคนิค Visual Effects (ด้านภาพ) ให้กับภาพยนตร์ต่าง ๆ ซึ่งแต่ละเรื่องใช้เม็ดเงินสร้างอย่างมหาศาลในเครือสหมงคลฟิล์ม เช่น ผลงานภาพยนตร์ดังเรื่ององค์บาก 2-3, ช็อกโกแลต, สาระแนสิบล้อ,  ใครในห้อง และอีกมากมาย

ธุรกิจในวงการภาพยนตร์ก็ถือว่ามีความเสี่ยง ที่คนในวงการอยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนให้มากกว่านี้ การทำธุรกิจภาพยนตร์เป็นทั้งศิลป์เชิงพาณิชย์ ที่ใช้กลยุทธ์การตลาดเข้ามาช่วยเต็มรูปแบบ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จเหมือนการขายสินค้าทั่วไป เพราะภาพยนตร์เป็นสินค้าเกี่ยวกับ “อารมณ์คน” ผู้ชมก็คือผู้บริโภค ซึ่งบางทีก็คาดเดาได้ยาก

อาหารสมอง (หัวข้อเสวนา) จานสุดท้าย  เผยถึงเบื้องหลังรายการดังการันตีรางวัลมากมาย เป็นรายการทีวีที่ถือว่าประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ  อย่างรายการ “ปริศนาฟ้าแลบ” โดยครีเอทีฟมาดนิ่งแต่พกไอเดียกระฉูดเต็มสมองอย่าง คุณมาร์วิน ธนธัช ไตรรัตน์วงศ์ มาเผยถึงที่มาที่ไปของการตั้งคำถามประหลาดสุดกวนที่ผู้เข้าร่วมแข่งขันในรายการ และผู้ชมทางบ้านถึงกับอึ้ง และเคล็บลับอีกมากมายสำหรับการเป็นครีเอทีฟ เขาเผยว่า  “คนที่เป็นครีเอทีฟ ควรเป็นนักฉกฉวย” นั่นคือ ฉกฉวยไอเดีย จังหวะ โอกาส ปฏิกิริยาคนดู คิด ๆ ๆ ๆ แล้วนำมาต่อยอด

ไอเดียดี ๆ ที่เกิดขึ้นในทุกวงการ ถ้าสังเกตให้ดี ล้วนใช้ “หลักการ” มาบริหารจัดการทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นศิลป์ ศาสตร์ หรืองานเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จ อาจเป็นเชิงธุรกิจ หรือได้รับรางวัลการันตีก็ได้

อาหารสมองจากงาน Creative Talk ครั้งนี้ ยิ่งเสพเท่าไหร่ก็ไม่มีวันอิ่ม ดั่งที่ว่า “การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด” การบริหารจัดการเชิงธุรกิจก็เช่นกัน แม้คุณจะประสบความสำเร็จในวันนี้ ก็ใช่ว่าจะสำเร็จตลอดไป เพราะจะต้องเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด…เช่นกัน

By : ชายเล็ก บดินทร์