พ.ร.บ.หลักประกันฯเพิ่มทางรอด’เอสเอ็มอี’ไทย


พ.ร.บ.หลักประกันฯเพิ่มทางรอด’เอสเอ็มอี’ไทย

พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 ได้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว หลังลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 โดยกฎหมายใหม่ฉบับนี้จะเป็นประโยชน์กับวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมหรือเอสเอ็มอี

ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 ได้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว หลังลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 โดยกฎหมายใหม่ฉบับนี้จะเป็นประโยชน์กับวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)อย่างยิ่งเพราะจะทำให้สามารถเข้าถึงเงินทุนได้มากขึ้น จากเดิมที่พบว่ามีเอสเอ็มอีเพียง 8 แสนรายเท่านั้น ที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 30% ของเอสเอ็มอีทั้งหมดของประเทศ 2.8 ล้านราย ขณะที่อีก 70% หรือกว่า 2 ล้านรายยังเข้าไม่ถึง

หลักสำคัญของกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ คือ การให้สามารถนำสังหาริมทรัพย์แบบไม่ต้องจดทะเบียนก็ได้หรือทรัพย์สินใดๆ ก็ได้นำมาใช้เป็นหลักประกัน และจากเดิมที่ทรัพย์สินเมื่อมีการนำไปค้ำประกันเงินกู้ หรือนำไปจำนำแล้ว ทรัพย์สินเหล่านี้จะต้องอยู่กับผู้รับจำนำ ผู้กู้จะไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ แต่กฎหมายฉบับนี้ห้สิทธิแก่เจ้าของทรัพย์สินนั้น ยังเป็นผู้ได้ครอบครองและสามารถใช้ประโยชน์ได้

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น กิจการ สิทธิเรียกร้อง บัญชีเงินฝากในธนาคาร สินค้าคงคลัง วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าเครื่องจักร อุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ อสังหาริมทรัพย์ทรัพย์สินทางปัญญา และเครื่องหมายการค้า ล้วนสามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันได้ทั้งสิ้น  โดยกฎหมายฉบับนี้ มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงคือกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะเป็นผู้ดูแลในด้านนายทะเบียน เป็นสำนักทะเบียนที่มีหน้าที่รับจดทะเบียนเกี่ยวกับหลักประกัน

ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมที่จะให้บริการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมาโดยมั่นใจว่ากฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการ ธุรกิจไทย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินเพื่อต่อยอดธุรกิจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น และเชื่อว่าจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้อย่างมหาศาลผุ้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะจะเข้าถึงเงินทุนได้โดยตรงเพื่อต่อยอดการพัฒนา และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า

โดยผู้ประกอบการสามารถนำทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน ทั้งกิจการ สิทธิเรียกร้อง สังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินทางปัญญา ไปใช้ประโยชน์ในการทำธุรกิจได้ ส่วนสถาบันการเงินจะสามารถขยายสินเชื่อได้มากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงเพราะลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากกฎหมายมีรูปแบบการดำเนินงานที่รวดเร็วเป็นธรรม

นอกจากนี้ ยังจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยและเป็นผลดีในสายตาของนักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งจะสะดวกและง่ายขึ้น รวมถึงเป็นผลดีต่อการจัดอันดับด้านการอำนวยความสะดวกการทำธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลกในอนาคต

ขณะที่นายพรชัย ฐีระเวช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง กล่าวว่า กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลาง ขณะที่ผู้ให้สินเชื่อ หรือสถาบันการเงิน จะมีความมั่นใจในการให้สินเชื่อ เพราะมีกฎหมายดูแลเฉพาะ อีกทั้ง จะเป็นผลดีต่อกระบวนการผลิต เพิ่มการจ้างงาน และทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีขยายตัว