บสย.เดินหน้า ประกันสินเชื้อ เอสเอ็มอี-สตาร์ทอัพ
คลัง-บสย.รับลูกครม. เดินหน้าค้ำประกันสินเชื่อ เอสเอ็มอี-สตาร์ทอัพ-นวัตกรรม ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนนับจากนี้
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการประกาศนโยบายการสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลและการผลักดันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อยกระดับนวัตกรรมของประเทศไทย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 เห็นชอบให้กระทรวงการคลัง โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ Start-up และ SMEs ในกลุ่มที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยี สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้นผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย.
ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่สถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังสร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินใช้บริการค้ำประกันสินเชื่อกับ บสย. มากขึ้น โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และนวัตกรรม (Start-up & Innovation) มีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท และมีระยะเวลาค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 10 ปี โดยกำหนดวงเงินค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดต่อราย SMEs ประเภทบุคคลธรรมดาไม่เกิน 1 ล้านบาท และกำหนดวงเงินค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดต่อราย SMEs ประเภทนิติบุคคลสำหรับกลุ่ม Start-up และกลุ่ม Innovation & Technology ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย และ 20 ล้านบาทต่อราย ตามลำดับ
โดย บสย. คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันในอัตราร้อยละ 1-2 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ และรัฐบาลรับภาระจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในปีแรก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถยื่นขอค้ำประกันสินเชื่อได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงิน แล้วแต่อย่างหนึ่งอย่างใดจะถึงก่อน โครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน การลงทุน และการบริโภคของผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ SMEs ในกลุ่ม Start-up และ Innovation & Technology ในประเทศไทย เพื่อให้เป็นหน่วยธุรกิจที่แข็งแกร่งและเป็นรากฐานอันมั่นคงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป
ด้านนายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า ขั้นตอนจากนี้ บสย. จะเร่งดำเนินการเพื่อสานต่อนโยบายของภาครัฐ โดยนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการ บสย. รวมถึงเร่งหารือกับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อร่วมกันปล่อยสินเชื่อ และค้ำประกันสินเชื่อให้กับกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ และกลุ่มนวัตกรรม ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนนับจากนี้
โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่ และนวัตกรรม ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติจาก ครม. ในครั้งนี้ บสย. คาดว่าจะช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการใหม่ และกลุ่มนวัตกรรม สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้นประมาณ 5,000 ราย เฉลี่ยรายละ 2 ล้านบาท ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท และก่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 40,000 ล้านบาท