NFI ดันอุตสาหกรรมอาหารโกอินเตอร์


คุณยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ได้เปิดเผยในรายการตอบโจทย์ SME ว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นส่วนที่ผลักดันจีดีพีของประเทศ 23% ซึ่งนั้นรวมถึง SME ในกลุ่มของอุตสาหกรรมอาหารด้วย ซึ่งในปีนี้ เป็นปีที่ครบรอบ 20 ปี ของสถาบันอาหาร จึงได้จัดทำโครงการหลักๆใน 3-4 ปีนี้ คือ  1.Thailand Food Forward ด้วยการขยายอุตสาหกรรมอาหารไทย ด้วยการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ คุณภาพ วางระบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต เป็นต้น 2.Thailand Food Quality To The World เป็นการวางระบบมาตรฐานอาหารของโลก เช่น ISO12000/14000, GMP เป็นต้น 3.จะเป็นโครงการขนาดใหญ่เนื่องจากวันนี้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายที่ 14 ของโลก แต่ส่วนแบ่งการตลาดคิดเป็น 2.3% มูลค่า 950,000 ล้านบาท หรือล้านล้านบาท ตามค่าเงินในแต่ละช่วง และในวันนี้ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลเป็นอันดับ 10 ของโลก ซึ่งคาดว่าไทยจะสามารถขยับขึ้นอันดับได้อีก เพราะประเทศมุสลิมที่ติด1ใน10นั้นมีเพียงประเทศตุรกี ส่วนอีก9ประเทศไม่ใช่ประเทศมุสลิม ซึ่งผู้ส่งออกฮาลาลรายใหญ่ของโลกคือ บราซิล รองลงมาคืออเมริกา ทางสถาบันอาหารจึงได้มีโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการอาหารและร้านอาหารให้ได้รับมาตรฐานฮาลาล และหากเทียบระดับอาเซียน ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทุกประเทศยอมรับในเรื่องของมาตรฐานของไทยมาก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่ไทยส่งออกไปมากที่สุด อาทิ สินค้าไก่แช่แข็ง หมูแช่แข็ง เป็นต้น

นอกจากนี้สถาบันอาหารจะมีโครงการต่างๆออกมาเสมอเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการทุกขนาด ซึ่งประกอบไปด้วยเทคโนโลยี การทำการตลาด และการผลิต สิ่งสำคัญคือผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อตลาดคือต้องมีนวัตกรรม ซึ่งคุณยงวุฒิมองว่านวัตกรรมจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้สินค้าได้ และได้ยกตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น ทุเรียนผง ชนิดชงพร้อมดื่ม และข้าวเหนียวทุเรียนที่สามารถเก็บได้ถึง 2 ปี รวมถึงข้ามหลามที่ยังอยู่ในกระบอกไม้ไผ่เก็บได้ 2 ปี และข้าวต้มมัดที่อยู่ในใบตองสามารถเก็บได้ 2 ปี เช่นกัน ซึ่งสินค้าที่ยกตัวอย่างมา เป็นสินค้าส่งออกทั้งสิ้น

ส่วนประเด็น ฟูดส์อินโนโพลิส หรือเมืองนวัตกรรมอาหาร เป็นตั้งอยู่บนพื้นที่ของ สวทช. คลอง1 ซึ่งจะเป็นพื้นที่ให้ผู้ประกอบการอาหารเช่าพื้นที่ในการทำการวิจัย ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม จะทำหน้าที่หาผู้ประกอบการประเภทอาหารที่ต้องการเทคโนโลยี งานวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ จึงทำหน้าที่เชื่อมโยงงานวิจัยกับผู้ประกอบการ และเมื่อได้ผลิตภัณฑ์ กระทรวงอุตสาหกรรมจะทำการทดสอบอาหาร และพาออกไปทดสอบตลาด และจะส่งต่อให้กระทรวงพาณิชย์ในการส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการอาหารต่อไป

นอกจากนี้ ปัญหาที่ผ่านมาของผู้ประกอบการ คือ การตั้งโรงงาน เนื่องจากการลงทุนในการผลิตนั้น ต้องใช้งบประมาณมากและผลิตภัณฑ์ในการเริ่มต้นธุรกิจหรือทดลองตลาดเริ่มแรกนั้น ยังต้องใช้สินค้าในจำนวนน้อยและต้องปรับปรุงการผลิตภัณฑ์เสมอๆ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐในการสร้างโรงงานต้นแบบหรือโรงงานนำทาง (Pilot Plant) ซึ่งได้ของบประมาณแผ่นดินและงบประมาณบางส่วนของสถาบันอาหารจัดสร้างขึ้นมา เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ โดยปัจจุบัน  Pilot Plant มีสายการผลิตหลายด้าน เช่น สายผง/น้ำ,สายสารสกัดที่ออกฤทธิ์ในอาหารที่มีความเหมาะสมกับวัยต่างๆหรือเป็นยาตามความเหมาะสม เป็นต้น และเมื่อผู้ประกอบการได้สินค้าที่แท้จริงแล้ว ผู้ประกอบการสามารถเขียนแผนธุรกิจเพื่อขอกู้กับสถาบันการเงินได้