5 วิธีเลี้ยงลูกยุคใหม่อย่างเข้าใจ ห่างไกลสิ่งเสพติดที่ชื่อ “สมาร์ทโฟน”


เดี๋ยวนี้แทบจะทุกบ้านต้องมีคอมพิวเตอร์หนึ่งตัว สมาร์ทโฟนไม่ต่ำกว่าสองเครื่อง ไหนจะแท็ปเล็ตอีกอะไรอีก จากแต่ก่อนที่การมีเด็กอยู่บ้านเราต้องระวังแค่เด็กจะติดทีวี ไม่ทำอะไร วัน ๆ ดูแต่การ์ตูนไม่สนใจการเรียน แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้ความเสี่ยงในการเลี้ยงลูกก็ย่อมเปลี่ยนไปตามยุคสมัยด้วยเช่นกัน

วันนี้เราจะมาพูดถึงวิธีการเลี้ยงลูกให้ห่างไกลจากสมาร์ทโฟน เพราะจากที่เห็นในตอนนี้ไม่ว่าจะมองไปที่ไหนก็มีแต่คนก้มหน้าก้มตา จดจ่ออยู่กับสมาร์ทโฟนของตัวเอง และด้วยกับราคาของโทรศัพท์ที่เดี๋ยวนี้ก็เครื่องละไม่กี่บาท พ่อแม่ก็อยากจะติดต่อลูกได้อย่างสะดวก สบายใจ เลยต้องยอมควักตังค์ซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องน้อย ๆ ตรงหน้าให้ แต่มันไม่ใช่แค่เรื่องของการติดต่ออย่างเดียวน่ะสิ เพราะมันนำไปสู่การเสียนิสัยอะไรอีกตั้งหลายอย่าง

การที่ให้เด็กใช้งานสมาร์ทโฟนทุกวันเป็นประจำจนติดเป็นนิสัยจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่ามันทำให้เด็กสมัยนี้มีสมาธิสั้น ไม่สนใจกับสิ่งรอบตัว จะเล่นอยู่แต่กับเกมบนสมาร์ทโฟน และเพราะเดี๋ยวนี้โทรศัพท์มือถือมีขนาดที่เล็กทำให้บางคนก็แอบเอาไปเล่นในห้องเรียน ส่งผลให้การเรียนออกมาแย่อีกต่างหาก นอกจากนั้นเด็กที่อยู่ในช่วงกำลังพัฒนาที่สนใจเล่นแต่สมาร์ทโฟนก็ทำให้เด็กไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ นานวันไปก็ทำให้โตมากลายเป็นเด็กที่มีปัญหา ไม่กล้าเข้าสังคม

เห็นมั้ยครับว่าจากเครื่องมือสื่อสารที่สร้างมาเพื่อทำประโยชน์กลับให้โทษได้มากขนาดไหน ซึ่งหากใครมีลูกเล็กเด็กแดงที่อยู่ในช่วงวัยกำลังโตแล้วไม่อยากให้เค้าเสพติดสมาร์ทโฟนมากจนเกินไปและส่งผลเสียในอนาคตกับตัวเค้าเองล่ะก็ เรามาเข้าใจ 5 เทคนิคในการควบคุมดูแลเด็ก ๆ ในยุคดิจิทัลนี้กันดีกว่า

  1. กำหนดเวลาการใช้งานให้ชัดเจน – หากคุณผู้ปกครองสามารถกำหนดเวลาให้เด็ก ๆ เล่นได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะเหมือนเป็นการฝึกให้เค้ารู้จักแบ่งเวลา และบริหารเวลา ทำให้มีระเบียบวินัยในตัวเอง ซึ่งถ้าเป็นวันธรรมดาเราอาจให้เค้าเล่นได้ 1 ชั่วโมง และเล่นได้ 3 ชั่วโมงในวันหยุด ก็แล้วแต่ดุลยพินิจของแต่ละครอบครัว
  2. สังเกตว่าเกมอะไรที่ลูกชอบเล่น – เดี๋ยวนี้เกมบนสมาร์ทโฟนมีเยอะไปหมด แตกต่างจากที่มันออกมาใหม่ในสมัยแรก ๆ ที่มีแต่เกมเด็ก ๆ ฝึกสมอง ดังนั้นเมื่อมีเกมมีสื่อต่าง ๆ ให้เด็กเสพเยอะ เราก็ต้องคอยสังเกตด้วยว่าเกมที่เค้าเล่นเหมาะสมกับอายุเค้ามั้ย เพราะเค้าไม่รู้หรอกว่าสิ่งไหนดีไม่ดี เราต้องคอยแนะนำอยู่เสมอ
  3. เด็กต่ำกว่า 2 ขวบยังไม่ควรใช้ – เด็ก 2 ขวบนี่ยังเป็นเด็กเล็กมาก ๆ อยู่เลยนะครับ ช่วงเวลานี้เค้าไม่ควรจะไปนั่งเล่นมองจอตลอดเวลา ควรที่จะใช้เวลาอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นหน้าที่เราที่ต้องคอยพูดคุยกับเด็ก หากิจกรรมที่ทำร่วมกันได้ และให้ของเล่นที่เหมาะสมกับช่วงวัยที่ช่วยฝึกฝนพัฒนาการเค้าจะดีกว่า
  4. ให้เด็กทำกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย – อย่างที่บอกว่าเด็กสมัยนี้ไม่ค่อยที่จะเล่นกันเหมือนสมัยก่อน เพราะต่างคนต่างก็มีเกมในโทรศัพท์ของตัวเอง ซึ่งเด็กอาจจะไม่รู้ว่ามันส่งผลเสียอะไรให้กับเค้าได้บ้าง แต่ในเมื่อเรารู้เราก็ต้องหมั่นแบ่งเวลาให้เด็ก หากิจกรรมให้เด็กทำ อาจจะให้ชวนเพื่อน ๆ มาเล่นกีฬา วาดรูป เล่นดนตรี ทำกิจกรรมทั่วไป เล่นไล่จับ ซ่อนแอบ แปะแข็ง อะไรพวกนี้จะช่วยให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าจมปลักอยู่กับสมาร์ทโฟน
  5. ครอบครัวต้องเป็นตัวอย่างที่ดี – เด็กจะทำตามที่พูดหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวเราทั้งสิ้น หากเรายังมัวสั่งแต่ไม่เคยที่จะทำเป็นแบบอย่างก็คงยากที่เด็กจะยอมเชื่อฟัง เราต้องสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเค้าด้วยตัวเราเองก่อน วางโทรศัพท์เราลงแล้วหันหน้าเข้าหาเค้า ชวนเค้าทำกิจกรรม ชวนเค้าเล่น ชวนเค้าคุย เพราะหากเรายังคงเล่นทุกอย่างอยู่ แล้วใครกันล่ะที่จะคอยใส่ใจดูแลเด็ก ๆ เหล่านี้By : นริศ เส้นขาว