พรอมพ์เพย์ ช่วยรัฐประหยัดแสนล้าน


พรอมพ์เพย์ช่วยรัฐประหยัดแสนล้าน

การลงทะเบียนอย่างเป็นทางการของ พรอมพ์เพย์ จะเริ่มต้นในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ ซึ่งนอกจากกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย จะออกมายืนยันถึงความปลอดภัยแล้ว ยังมีรายงานเพิ่มเติมอีกว่า พรอมพ์เพย์ จะช่วยให้รัฐ ประหยัดเงินได้ถึง 1 แสนล้านบาท

หลังจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เปิดเผยว่า รัฐพร้อมชี้แจงในทุกเรื่องพรอมพ์เพย์ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ประเทศประหยัดรายจ่ายได้ถึงปีละ 7.5 หมื่นล้านบาท-1 แสนล้านบาท

สอดคล้องกับกระทรวงการคลังได้ประกาศแผนชำระเงินแห่งชาติ หรือเนชั่นแนล อี-เพย์เมนต์ ซึ่งแบ่งเป็นส่วนของภาครัฐและเอกชน

โดยภาครัฐเองจะนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดการระบบภาษี การประกวดราคา การประมูลงานต่างๆ เรียกว่ามีขั้นตอนใช้เต็มรูปแบบ ซึ่งได้นำร่องจากโครงการประมูลคลื่น 4จี เมื่อปี 2558ที่ผ่านมา ที่ประมูลกันผ่านระบบที่จัดเตรียมไว้ โดยไม่ให้มีการฮั้วประมูลได้เด็ดขาด

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ยืนยันว่า ระบบอี-โปรเคียวเมนต์ ของรัฐบาลนั้นจะทำให้การคลังของประเทศโปร่งใสมากขึ้น การทุจริตคอร์รัปชั่นจะลดลงเพราะระบบการจัดการที่ดีและตรวจสอบได้

ส่วนในภาคเอกชน การใช้ระบบการชำระเงินนั้นจำเป็นต้องดำเนินการผ่านทางธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน และร้านค้าต่างๆ ระบบ พรอมพ์เพย์  มีเป้าหมายนำไปสู่การลดการใช้เงินสดในระบบเศรษฐกิจ ที่คาดว่าจะทำให้ประเทศประหยัดรายจ่ายได้ถึงปีละ 7.5 หมื่นล้านบาท-1 แสนล้านบาท

ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้วางยุทธศาสตร์ Payment Roadmap ร่วมกับสมาคมธนาคารไทยตั้งแต่ปี 2554 มีทั้งหมด 4 ขั้นตอน คือ 1.ภาคประชาชนและภาคธุรกิจเข้าถึงระบบการชำระเงินมากขึ้น 2.เพิ่มประสิทธิภาพลดใช้เงินสดและ เช็ค หันไปใช้ดิจิทัลแบงก์กิ้งมากขึ้น 3.ระบบชำระเงินจะต้องมีเสถียรภาพ และ 4.การกำกับดูแล จะต้องมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีความมั่นใจ

ทั้งนี้ ระบบพร้อมเพย์  หรือระบบเอนี่ ไอดี คือนำเอาบัตรประชาชน สมุดบัญชีเงินฝาก และหมายเลขโทรศัพท์ นำไปผูกกันเป็นบัญชีเดียวเพื่อที่จะเข้าสู่ระบบชำระเงินแห่งชาติ ที่กำลังดำเนินการขณะนี้คือแผนขั้นที่ 1ของนโยบายฯ ในการเริ่มเข้าสู่ระบบการชำระเงิน ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือDigital Economy