กรุงศรี ชี้ “ฟินเทค” จะทำให้ธนาคารหายไป


กรุงศรี ชี้ “ฟินเทค” จะทำให้ธนาคารหายไป

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ฯ เตรียมแยกธุรกรรม “ฟินเทค” ออกเป็นบริษัทใหม่ พร้อมย้ำว่า สิ่งนี้จะส่งผลทำให้ธุรกรรมของธนาคารในปัจจุบันหายไป แต่ก็ยอมรับว่า การขยายสาขาก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น เพียงแต่ต้องพิจารณาให้ทุกสาขา ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรุงศรีคอนซูมฯ เตรียมแยกการบริหารงานด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ ฟินเทค ออกเป็นบริษัทลูกภายใต้ธนาคาร มีทุนจดทะเบียนเป็นหลัก 10 ล้านบาท เพื่อรองรับการร่วมลงทุน กับผู้ประกอบการ ฟินเทคและสตาร์ทอัพ ช่วยให้คล่องตัวในการร่วมลงทุน คาดว่าแล้วเสร็จภายในปีนี้

โดยในระยะแรก จะเป็นการลงทุนผ่านกองทุนฟินเทค ทั้งในประเทศและต่างประเทศ // ส่วนระยะที่ 2-3 จะลงทุนโดยตรงในฟินเทคและสตาร์ทอัพ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้มีเทคโนโลยีทางการเงินที่ตรงกับความสนใจ ในลักษณะของบริการทางการเงินที่ไม่ผ่านธนาคารหลายแห่ง ทั้งนี้ การตัดสินใจร่วมกับเวนเจอร์แคปนี้ เป็นไปตามโรดแมปของธนาคารเป็นสำคัญ  ขณะที่ “แบงก์ ออฟ โตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ หรือ บีทีเอ็มยู ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ก็จะเป็นเพียงที่ปรึกษา

นอกจากนี้ หลังจากจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาแล้ว ก็จะโอนย้ายสายงาน “ดิจิทัล แบงก์กิ้ง และนวัตกรรม” ที่ปัจจุบัน มีบุคลากรอยู่ 45 คน ออกไปอยู่กับบริษัทลูกท่กำลังจะตั้งขึ้นนี้  พร้อมกับเพิ่มทีมที่จะดูแล “เวนเจอร์แคป” โดยตรงอีกด้วย

ส่วนแผนการให้บริการลูกค้าของธนาคารในขณะนี้ นายฐากร กล่าวว่า ธนาคารกำลังพิจารณาจำนวนสาขาที่มีอยู่ 670 สาขาว่า เพียงพอในการเข้าถึงลูกค้าได้อย่างเต็มที่หรือไม่ หลังจากที่ได้มีการเปรียบเทียบขนาดสินทรัพย์แล้ว ปรากฏว่า ปัจจุบันธนาคารมีสาขาน้อยกว่า 4 ธนาคารใหญ่ ซึ่งธนาคารเหล่านี้ มีสาขาระดับ 1,000 แห่ง

โดยคาดว่า ธนาคารกำลังจะขยายสาขาเป็น 703 สาขา ในปีนี้ โดยจะเน้นเปิดในพื้นที่ชุมชน และมั่นใจว่า ไม่จำเป็นต้องเพิ่มสาขาไปถึง 1,000 สาขา แต่หากสามารถเน้นเรื่องความเหมาะสมกับการทำธุรกิจ รวมทั้งการมีความพร้อมในการให้บริการ เช่น การขอสินเชื่อ หรือการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอยู่ ก็จะทำให้การให้บริการของกรุงศรีมีประสิทธิภาพสูงสุด แม้ว่า จะมีมสาขาน้อยลงจากดิจิทัลแบงก์กิ้งก็ตาม