สั่งสอบขายหนี้เอ็นพีแอล เอสเอ็มอี ดีเวลลอปเม้นท์ แบงก์


เอสเอ็มอีดีเวลลอปเม้นท์ แบงก์ สั่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ภายหลังมีการร้องเรียน กรณีปล่อยกู้ และเปิดประมูลขายหนี้เอ็นพีแอลของธนาคารว่าไม่โปร่งใส

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี ดีเวลลอปเม้นท์ แบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงถึงกรณีที่นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบการทุจริตเอสเอ็มอี ดีเวลลอปเม้นท์ แบงก์ ใน 3 ประเด็น คือ การอนุมัติขายหนี้ที่ไม่ก่อรายได้ หรือเอ็นพีแอล จำนวนกว่า 1 หมื่นล้านบาทว่า อาจผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ การอนุมัติสินเชื่อให้โรงสีข้าวจงเจริญ 125 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีการร้องเรียนว่า ได้มีการใช้เอกสารปลอมเป็นหลักฐานการยื่นกู้และเบิกเงินกู้ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร ที่ถูกตรวจพบโดยผู้ตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นายมงคล กล่าวว่า เรื่องการขายหนี้เอ็นพีแอล ให้บริษัทเอกชน ที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการขายในราคาที่ต่ำกว่ามูลหนี้มากนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้เพราะเรื่องดังกล่าว บางกรณีเป็นการขอสินเชื่อตั้งแต่ปี 2552-2553 ก่อนที่ตนเองจะมารับตำแหน่ง จึงต้องเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล และขอเอกสารที่มีจำนวนมากเข้ามาสอบข้อเท็จจริง

ทั้งนี้มีข้อมูลจากกระทรวงการคลังว่า เอสเอ็มอีดีเวลลอปเม้นท์ แบงก์ ได้เสนอแนวการแก้ไขหนี้เอ็นพีแอลที่มีอยู่ราว 4 หมื่นล้านบาท แก่คณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด พิจารณาโดยหนึ่งในแนวทางที่เสนอ คือ การแบ่งกองหนี้ขายออกเป็นกองๆ แยกตามภูมิภาค ซึ่งกองที่ 1 คือ กองหนี้ภาคตะวันออก ส่วนกองที่ 2 คือ กองหนี้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 3 กอง ทั้งนี้ได้มีการร้องเรียนว่ามีการขายหนี้ให้บริษัทเอกชนในราคาที่ต่ำเกินจริง

โดยการประมูลขายหนี้เป็นไปด้วยความเร่งรีบ เพราะผู้บริหารต้องการเร่งสร้างผลงานว่าสามารถปรับลดหนี้เอ็นพีแอลลงได้ ทำให้การทำงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ขาดความรอบคอบ และรูปแบบการประมูลใช้วิธีการประมูลเป็นกอง จึงไม่สามารถระบุเจาะจงราคาหลักประกันที่ประมูลไปได้ว่าลูกหนี้รายไหนราคาเท่าไร เพราะเป็นการประมูลแบบคละรวมทรัพย์ มีทั้งหนี้มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน จึงยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริง หรือเป็นเพราะความรีบร้อนของผู้บริหารที่ต้องการสร้างผลงาน