คุณเสพติดความเครียดหรือไม่ ? ระวังภาวะต่อมหมวกไตล้า


คุณเสพติดความเครียดหรือไม่ ? ระวังภาวะต่อมหมวกไตล้า

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ตื่นยาก และแอบงีบหลับตอนกลางวันอยู่บ่อยครั้งเพราะความอ่อนเพลีย รู้ไว้ว่าอาจไม่ได้เป็นเพราะคุณขี้เกียจ แต่กำลังเสพติดความเครียด ที่ต้องเจอในแต่ละวัน จนทำให้ ภาวะต่อมหมวกไตล้า จนมีอาการแสดงออกอย่างที่เห็น ลองสังเกตตัวเองว่า กำลัง ‘เสพติด’ ความเครียด อยู่หรือไม่เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดไม่ได้มาจากปัญหาครอบครัว และเรื่องงานเท่านั้น สิ่งเร้าที่เข้ามากระตุ้นเพียงเล็กๆ น้อยๆ อย่างการจราจรที่หนาแน่นในชั่วโมงเร่งด่วน ภาวะกดดันในที่ประชุม รวมถึงงานที่ต้องเร่งรีบทำให้เสร็จทันตามกำหนด การออกกำลังกายที่หักโหมเกินไป และ การอดนอน ความเครียดที่มาจากปัจจัยเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นบ่อยครั้งก็สะสมและกลายเป็นอาการ ‘เสพติด’ ชนิดหนึ่งได้เช่นกัน เรียกว่า อาการ ‘เสพติดความเครียด’ (Adrenal addict)

พญ.ภาวิณี มณีไพโรจน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย ศูนย์ Royal Life Anti-aging Center โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า คนทั่วไปจะเกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว เพราะในระยะแรกร่างกายมีความทนทานสูงต่อกับความเครียดที่เข้ามาในแต่ละวัน แต่พอมารู้ตัวอีกทีก็ล้มป่วย ติดเชื้อเฉียบพลันจนต้องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์วินิจฉัยอาการของโรคนี้ว่าเป็น ‘ภาวะต่อมหมวกไตล้า หรือ ‘Adrenal fatigue’ ที่เกิดจากอาการผิดปกติของร่างกายอย่างหนึ่งที่มีความเครียดเรื้อรัง (Chronic stress) เป็นตัวกระตุ้น อาการที่ปรากฎชัดเจนของภาวะต่อมหมวกไตล้า คือ อาการขี้เกียจตื่นนอนตอนเช้า อ่อนเพลีย ไม่มีแรง อยากงีบหลับ ช่วงกลางวัน ง่วงแต่นอนไม่หลับ มีอาการวิงเวียน ศีรษะ หน้ามืด เวลาเปลี่ยนท่าทาง (ลุก-นั่ง) อยากของหวาน, ของเค็ม ในขณะที่บางรายปัสสาวะบ่อยผิดปกติ ปวดประจำเดือนบ่อย เป็นภูมิแพ้กำเริบบ่อยๆ ผิวแห้งและแพ้ง่าย ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก เครียดซึมเศร้า คุมอาหาร ออกกำลังกายหนักเป็นประจำแต่น้ำหนักไม่ลดลง เป็นต้น

ภาวะต่อมหมวกไตล้าจัดอยู่ในกลุ่ม ‘โรคที่ถูกลืม’ เพราะไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องและทันท่วงที จากการเจาะเลือดตรวจสุขภาพทั่วไป อาจไม่เพียงพอสำหรับการวินิจฉัยภาวะนี้ เนื่องจากต้องวัดระดับฮอร์โมนต่อมหมวกไต (Adrenal hormones) 2 ตัว ที่มีชื่อว่า คอร์ติซอล (Cortisol) และ ดีเอชอีเอ (Dyhydroepiandrosterone-DHEA) จากผลเลือดร่วมด้วย

การป้องกันไม่ให้ภาวะต่อมหมวกไตล้าที่ดีที่สุด คือ การนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง หรือเข้านอนก่อน 5 ทุ่ม รับประทานอาหารเช้า ก่อน 10.00 น. เพราะหลัง 10.00 น. ระดับ Cortisol จะลดลง ทำให้ยิ่งอ่อนเพลีย Cortisol จะทำงานดีขึ้นเมื่อมีน้ำตาลในเลือดเพียงพอควรรับประทานมื้อเล็กๆ บ่อย ๆ แทนการทานอาหารมื้อหลัก ๆ เพียง 1-2 มื้อ และออกกำลังกายแบบหนักปานกลาง (Moderate intensity exercise) เพราะการออกกำลังกายที่หนักเกินไปจะส่งผลให้ต่อมหมวกไตล้ามากยิ่งขึ้น ลองหาวิธีคลายความเครียด เช่น หางานอดิเรกทำ เดินทางไปเที่ยว และทานอาหารเสริมและสมุนไพรบางชนิดสามารถช่วยลดอาการต่อมหมวกไตล้าได้ เช่น Ashwaghandha (โสมอินเดีย) L-theanine (สารสกัดจากชาเขียว) Phosphatidylserine (สารสกัดจากถั่วเหลือง) วิตามิน C วิตามิน B3 วิตามิน B5 วิตามิน B6 ท้ายที่สุดหากพบอาการผิดปกติของภาวะต่อมหมวกไตล้า อย่างน้อย 5 ข้อ แสดงว่าคุณกำลังมีความเสี่ยงสูง ควรรีบพบแพทย์